ซอฟต์โลนแบบเสียมิได้

นั่งชะเง้อคอรอมา 5 เดือนเต็ม (ตั้งแต่ 28 ส.ค. 63 ที่นายกรัฐมนตรีรับปากไว้) รัฐบาลเพิ่งตื่น “ซอฟต์โลนแอร์ไลน์” แต่ว่าจะมีซอฟต์โลนทั้งที ก็ดูเหมือนเงื่อนไขหยุม ๆ หยิม ๆ จนอาจดูไม่คุ้มค่าการรอคอย และที่สำคัญไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากแล้ว..!!


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

นั่งชะเง้อคอรอมา 5 เดือนเต็ม (ตั้งแต่ 28 ส.ค. 63 ที่นายกรัฐมนตรีรับปากไว้) รัฐบาลเพิ่งตื่น “ซอฟต์โลนแอร์ไลน์” แต่ว่าจะมีซอฟต์โลนทั้งที ก็ดูเหมือนเงื่อนไขหยุม ๆ หยิม ๆ จนอาจดูไม่คุ้มค่าการรอคอย และที่สำคัญไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมากแล้ว..!!

โดยวันนี้ (28 ม.ค.) “พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือสายการบินต่อบอร์ด EXIM BANK ตามที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง โยนเรื่องมาให้แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

หลังกระทรวงการคลัง ทาบทามไปที่ “ธนาคารออมสิน” แต่ถูกปฏิเสธ “ซอฟต์โลนแอร์ไลน์” มาก่อนหน้านี้..!!

หลักการปล่อย “ซอฟต์โลนแอร์ไลน์” ของ EXIM BANK คือ มุ่งเน้นเรื่องการจ้างงานเป็นหลักและเป็นสายการบินที่เป็นบริษัทไทย เพื่อเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือบริษัทไหนจ้างงานเท่าไร กู้เงินตามจำนวนนั้น มาเบิกเป็นเงินกู้ จะยึดจากจำนวนบุคลากร เงินที่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร เพื่อให้พนักงานสายการบินยังอยู่กันได้

ส่วนแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาปล่อยกู้ซอฟต์โลนแอร์ไลน์ มาจาก 2 ส่วนนั่นคือมาจากงบประมาณโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรืออาจเป็นเงินของ EXIM BANK เอง..!!

ประเด็นคือ “ซอฟต์โลน” ที่ว่านี้จะคุ้มค่ากับการรอคอยหรือไม่ เพราะสิ่งที่สายการบินต่าง ๆ ประสบปัญหาไม่ใช่แค่สภาพคล่องเรื่องจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น แต่มันหมายถึง “สภาพคล่อง” ในการดำเนินงานที่จะนำพาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปรายได้ยามวิกฤติเช่นนี้

เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลเองไม่ใช้วิธีการออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินทุนที่ได้ มาปล่อย “ซอฟต์โลน” ผ่านธนาคารของรัฐที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารออมสิน, EXIM BANK ภายใต้เงื่อนไขพิเศษง่ายต่อการเข้าถึงและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์

ที่สำคัญทำให้ยอดการปล่อยซอฟต์โลนจำนวนสูงขึ้น และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องของสายการบินต่าง ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน

การผลักดันให้ธนาคารรัฐสร้างเงื่อนไขการปล่อยซอฟต์โลนกับธุรกิจสายการบินในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ มันมีเงื่อนไขมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ค้ำคอผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่..ทำให้กลไกการปล่อยกู้จะถูกตั้งเงื่อนไขสูง เพื่อลดความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นกับธนาคาร, ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่ว่าด้วย..ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ..!

ด้วยเหตุนี้ “ซอฟต์โลนแอร์ไลน์” จึงมีแบบเสียมิได้หรือ “ให้แค่รู้ว่ามี” เท่านั้นเอง..!?

Back to top button