“อียู” สั่งควบคุมส่งออก วัคซีนโควิด “แอสตร้า” หลังผลิตวืดเป้า! ไร้ชัดเจน กระทบไทยหรือไม่

"อียู" สั่งควบคุมส่งออก วัคซีนโควิด "แอสตร้า" หลังผลิตวืดเป้า! ไร้ชัดเจน กระทบไทยหรือไม่


สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ยืนยันเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) ในการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นภายใน EU ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับการส่งมอบซึ่งทำให้วัคซีนขาดแคลน

ทั้งนี้ กลไกความโปร่งใส (transparency mechanism) ให้อำนาจประเทศต่างๆ ใน EU ที่จะปฏิเสธการอนุญาตส่งออกวัคซีน หากบริษัทผลิตวัคซีนไม่ปฏิบัติตามสัญญาการส่งมอบวัคซีนที่มีอยู่กับทาง EU

“การปกป้องและความปลอดภัยของพลเมืองของเราเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และปัญหาที่เราเผชิญในขณะนี้ ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องดำเนินการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตใน EU” คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุ

โดยมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนของ EU จะส่งผลกระทบต่อราว 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร, สหรัฐ, แคนาดา และออสเตรเลีย แต่อีกหลายประเทศรวมถึงประเทศที่ยากจนจะได้รับการยกเว้น

อย่างไรก็ดี EU ยืนยันว่า การควบคุมการส่งออกวัคซีนนั้นเป็นมาตรการเพียงชั่วคราว และไม่ใช่การห้ามส่งออกวัคซีน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวของ EU โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนเกิดขึ้น หลังจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษเปิดเผยว่า วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีการส่งมอบไปยังสหภาพยุโรป (EU) ต่ำกว่าเป้าหมายไปจนถึงปลายเดือนมี.ค. อันเนื่องจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส

ด้านบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐระบุเช่นกันว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 เหลือเพียง 50% ให้แก่ยุโรป โดยจะกระทบการส่งมอบในช่วงสิ้นเดือนนี้ไปจนถึงต้นเดือนหน้า

สำหรับกรณีวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา จะกระทบแผนนำเข้าล็อตแรกของประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้หรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยในส่วนของล็อตแรกที่จะเข้ามา 50,000 โดสจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้าในเดือน ก.พ.นั้น ขึ้นอยู่กับเรื่องของมาตรการการขนส่งด้วย เนื่องจากขณะนี้สหภาพยุโรป(อียู)จะมีการจำกัดส่งออกวัคซีน ดังนั้นต้องดูว่าล็อตที่จะเข้ามานี้ถูกรวมอยู่ด้วยหรือไม่ หากรวมอยู่ด้วยก็ให้บริษัทไปต่อสู้ให้ประเทศไทย ถึงอย่างไรก็จะเข้ามาภายในเดือนก.พ.นี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเข็มแรกจะฉีดทันวันที่ 14 ก.พ.หรือไม่

Back to top button