โซลาร์ฟาร์มสติเฟื่อง!

28 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่งานใหญ่ จัดพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาด 30,000 เมกะวัตต์ ระหว่างพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ.


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

28 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่งานใหญ่ จัดพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาด 30,000 เมกะวัตต์ ระหว่างพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ.

งานช้างขนาดนี้ ได้มีการเทียบเชิญผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าทั้งใหญ่-กลาง-เล็กโดยถ้วนหน้า และแทบจะไม่มีใครปฏิเสธคำเชิญ หลังพิธีการยังมีการสอบถามผู้ประกอบการแต่ละรายว่า มีความสนใจจะทำโรงไฟฟ้าขนาดมากน้อยเท่าใด ซึ่งก็น่าแปลก …อยู่ ๆ กองทัพบกมายุ่งอะไรและใช้สิทธิอะไรมาทำกิจการไฟฟ้า

พล.ท.รังษีชื่อนี้ คงต้องจดจำไว้ให้ดี เพราะเป็นผู้เสนออภิมหาโปรเจกต์โซลาร์ฟาร์ม โดยใช้ที่ดินกองทัพบก ซึ่งทั่วประเทศมีเหลือเฟือกว่า 4.5 ล้านไร่ (อันที่จริงก็ยังเป็นที่ดินราชพัสดุอยู่นั่นแหละ)

ข้อเสนอของนายพลท่านนี้ ก็คือ จะจัดสรรที่ดินราชพัสดุทหารที่มีอยู่ทั่วประเทศให้เอกชนเช่า เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่มีต้นทุนต่ำในราว 15 ล้านบาท/เมกะวัตต์ จากราคาต้นทุนแต่ก่อน 60-80 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และก็จะทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเป็นอันมาก จากราคาที่จำหน่ายในปัจจุบันเกือบหน่วยละ 4 บาท

โครงการนี้จะเกิดการระดมทุนจากภาคเอกชนเป็นเม็ดเงินประมาณ 6 แสนล้านบาท อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดถึง 8 รอบ และบริษัทที่ได้เข้ารับสัมปทานดำเนินงาน ก็จะช่วยผลักดันดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 2,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ในเม็ดเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท จะใช้วิธีการนำสินค้าเกษตรของไทย อาทิข้าว ยาง มันสำปะหลัง ฯลฯ ไปแลกเปลี่ยนในรูปแบบ G2G เพื่อซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ และแผงโซลาร์รวมมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีดำริจะทำเหมืองแร่ควอตซ์ในพื้นที่ทหารที่ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อผลิตเป็นแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเชื่อกันว่า มีแหล่งแร่สำรองดังกล่าวมากกว่า 1 ล้านตัน และสามารถจะนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 5 แสนเมกะวัตต์

สถานะโครงการขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จสิ้นมี.ค.นี้ จากนั้นจะนำเรื่องเข้าหารือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเสนอครม.เห็นชอบ คาดว่ากฟผ.จะสามารถลงนามสัญญารับซื้อไฟหรือ “PPA” ได้ภายในปลายปีนี้

สำหรับข้อท้วงติงว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มทัพบกจะต้องได้รับการบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ “PDP” ก่อน พล.ท.รังษีก็เชื่อว่า “จะสามารถปรับปรุงแผน PDP ดังกล่าวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ครับ ทุกอย่างดูจะง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากไปหมด แต่ก่อนอื่นเลย อยากให้ดูกำลังผลิตไฟฟ้ารวมในระบบในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 45,476.37 เมกะวัตต์ (รวมพลังงานหมุนเวียน 3,057.93 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 6.72 เข้าไปด้วย) แต่มีความต้องการใช้สูงสุด (จากพีคสุดเมื่อ 2 พ.ค. 62) จำนวน 30,853.2 เมกะวัตต์

อัตรากำลังผลิตก็จะล้นเกิน 14,623.17 เมกะวัตต์ หรือสำรองไฟล้นเกินถึงร้อยละ 32.15

หากกระทรวงพลังงานยอมรับแผนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มกองทัพบก ก็ต้องบวกเพิ่ม 30,000 เมกะวัตต์เข้าไปในกำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบันกว่า 45,000 เมกะวัตต์ ก็จะเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 75,476.37 เมกะวัตต์

อัตรากำลังผลิตก็จะล้นเกิน 44,623.17 เมกะวัตต์ หรือสำรองไฟล้นเกินถึงร้อยละ 144.63

อุ๊แม่เจ้า! ไฟสำรองเกินร้อยละ 32 เวลานี้ ประชาชนก็ยังบ่นทำให้ค่าไฟแพงกันอยู่แล้ว นี่กองทัพบกจะอัดไฟสำรองเกินถึง 144% สำรองไปหาพระแสงอะไรให้ประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

คำถามท้วงติงเรื่องไฟสำรองเกินมากไป มันไม่ใช่แค่ 2 หลัก แต่เกินเป็น 3 หลักเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ผอ.ช่อง5 แม่งานใหญ่เจ้าโปรเจกต์ก็ตอบว่า จะไปลดการซื้อไฟจากต่างประเทศลง และอีกหน่อย เศรษฐกิจเติบโตทุกปี ความต้องการใช้ไฟก็จะเพิ่มสูงตาม สำรองไฟที่เกินมาก ๆ ก็จะเกินน้อยลง

ตอบง่ายนิ! ไฟจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากสปป.ลาว มีจำนวน 5,716.60 ล้านเมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 12.58 มันมี PPA หรือสัญญาซื้อขายไฟระหว่างหน่วยงานรัฐ 2 ประเทศกันอยู่ จู่ ๆ ไปบอกเลิกสัญญา ก็จะผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และยังสร้างความสัมพันธ์ร้าวกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

อะไรควร ไม่ควร แยกแยะอะไรกันไม่ออกเชียวหรือ

นอกจากนี้ แม้ประกาศเป็นพื้นที่เขตทหาร “ห้ามเข้า” แต่ก็อย่าลืมว่า ยังเป็นที่ดินราชพัสดุภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ภายใต้กระทรวงการคลังอยู่นะ การจะเปลี่ยนแปลงการใช้สอยประโยชน์ เป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม ก็ต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์เสียก่อน

ขอหรือยังทหาร!

การที่จู่ ๆ จะสร้างอภิมหาโปรเจกต์โซลาร์ฟาร์ม ก็ใช่ว่านึกจะทำก็ทำเองได้ ขั้นตอนทางกฎหมายก็คือ ต้องได้รับการบรรจุในแผน PDP จากกพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกระทรวงพลังงานเป็นผู้นำเสนอเสียก่อน

ทหารรู้ในขั้นตอนตรงนี้ไหม!

เรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับสินค้าเทคโนโลยีหรือเคาน์เตอร์เทรด “จีทูจี” น่ะ เป็นเรื่องโกหกพกลม ไม่เคยเป็นจริงสักราย แต่แอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์สีเทาเพียบ

โปรเจกต์สติเฟื่องเช่นนี้ ทำไม่ได้หรอก หากไม่ใช้ “พลังเขียว” ผลักดัน

Back to top button