“คมนาคม” เปิดแผนทดลองวิ่ง “รถไฟสายสีแดง” ปชช.ได้นั่งจริง ก.ค.64 เคาะค่าโดยสาร 15-42 บ.

“คมนาคม” เปิดแผนทดลองวิ่ง “รถไฟสายสีแดง” ปชช.ได้นั่งจริง ก.ค.64 เคาะค่าโดยสาร 15-42 บ.


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ กำหนดเป้าหมายในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 64

โดยในวันที่ 26 มี.ค.64 เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาการรถไฟฯ จะมีการเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์รถไฟสายสีแดง ตั้งแต่บางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะมีการทดลองเดินรถเป็นการภายในเท่านั้น เพื่อเช็คระบบตลอดสายทั้งหมด และหลังจากวันที่ 26 มี.ค. เป็นต้นไปจึงจะให้ประชาชนได้ร่วมทดลองรถไฟสายสีแดงได้ โดยจะเป็นในลักษณะหมู่คณะ ในรูปแบบการทัศนศึกษา หรือเยี่ยมชมโครงการ โดยจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้ามายังรฟท.เพื่อให้จัดตารางวันเวลาในการเข้าร่วมทดลองของแต่ละกลุ่ม

และตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงของการเปิดเดินรถสายสีแดงอย่างไม่เป็นทางการ (Soft Opening) จึงจะเริ่มให้ประชาชนได้เข้าทดลองใช้บริการได้ โดยจะมีการกำหนดตารางการเดินรถในช่วงนั้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 15-42 บาท โดยให้รฟท.ทำรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สถานีของสายสีแดงมีระยะห่างกันเท่าไร เพราะการคำนวณอัตราค่าโดยสาร ใช้หลักระยะทางเป็นการกำหนดราคา หรือ Distance Rate ดังนั้น รฟท.ต้องอธิบายตัวเลขต้นทุนต่อกิโลเมตรเท่าไร ซึ่งระยะทางระหว่างสถานี อาจจะต้องมีการปัดเศษขึ้นลง จะต้องอธิบายได้

“ขณะนี้ยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ซึ่งได้กำชับในเรื่องประชาสัมพันธ์ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้ไม่สับสน และมีความสะดวกในการใช้บริการรถไฟสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงการใช้บริการระบบฟีดเดอร์เพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ” รมว.คมนาคม กล่าว

เบื้องต้นได้รับทราบ การจัดการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพงหลังเปิดเดินรถไฟสายสีแดงและเปิดสถานีกลางบางซื่อ โดยจะลดจำนวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน พร้อมมีระบบฟีดเดอร์ ทั้งนี้ ให้รฟท.ไปทำตารางการเดินรถให้ชัดเจน เนื่องจาก ในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้าและเย็นช่วงละ 2 ชั่วโมง จะมีการเดินรถไปเข้าสถานีหัวลำโพงช่วงเช้า 9 ขบวน และช่วงเย็น 9 ขบวนนั้น โดยให้รฟท.จัดตารางเวลาเดินรถ ให้ลดลงเหลือช่วงละไม่เกิน 7 ขบวน โดยใช้วิธี ปัดขบวนแรกให้เร็วและปัดขบวนหลังให้ช้าลง เพื่อให้พ้นช่วงเวลาเร่งด่วน และทำให้สามารถกำหนดตารางเดินรถ 7 ขบวน ให้มีระยะห่าง 20 นาทีต่อขบวน ซึ่งจะทำให้มีปัญหาจุดตัดกับถนนน้อยลง ไม่กระทบปัญหาจราจรและให้รฟท.ทำตารางการเดินรถทั้งหมด และเร่งประชาสัมพันธ์กับประชาชนรับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

โดยมีการรายงานว่าปัจจุบันมีขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงทั้งสิ้น 118 ขบวน/วัน โดยจากบางซื่อ-หัวลำโพงมีจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 7 จุด หรือต้องมีการปิดเครื่องกั้นถนนจำนวน 826 ครั้ง หากมีการลดจำนวนรถวิ่งเข้าหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน จะปิดเครื่องถนนเหลือ 154 ครั้ง/วัน หรือลดลง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม การลดขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน/วันจะส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบประมาณ 3,126 คน/วัน ซึ่ง ให้รฟท.ทำตารางการเดินรถ การหยุดรถแต่ละจุด และการใช้ระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อ และแจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อปรับการเดินทางให้สอดคล้อง

สำหรับระบบฟีดเดอร์ ที่เกี่ยวข้องและการเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อนั้น เบื้องต้นให้ใช้ทางด่วนเป็นหลัก โดยให้รฟท.บูรณาการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ. ) ในการยกเว้นค่าผ่านทางสำหรับรถฟีดเดอร์ เพราะเป็นการช่วยเหลือประชาชน และหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการยกเว้นค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีแดง ที่สถานีบางซื่อ เพราะมองว่า เป็นการป้อนผู้โดยสารระหว่างกัน ซึ่งเป็นประโยชย์กับทั้ง 2 โครงการ ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ 5 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหาร ด้านการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งระบบ รวมทั้งการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง 2.คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหาร ด้านสถานี 3.คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหาร ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร 4.คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหาร ด้านการสื่อสารสาธารณะ 5.คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหาร ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า (Gateway/Hub)

Back to top button