ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.พ. หดต่ำสุดรอบ 26 เดือน กังวลโควิด-เสถียรภาพการเมือง

ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่น ก.พ. หดต่ำสุดรอบ 26 เดือน กังวลโควิด-เสถียรภาพการเมือง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI เดือนก.พ.64 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 22-26 ก.พ.64 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 29.6 ลดลงจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.8 ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน

สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนก.พ. ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีการระบาด และมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผย GDP ไตรมาส 4/63 ขยายตัว 1.3% ส่งผลให้ทั้งปี 63 GDP หดตัว -6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปีนับแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง, ความกังวลจากเสถียรภาพทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมือง, ประเทศไทยยังขาดดุลการค้า, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย

ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, เราชนะ และเรารักกัน ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, การเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน, กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง, การส่งออกเดือนม.ค.64 ขยายตัว 0.35%

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดดังนี้

กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 30.4 ลดลงจากระดับ 30.6 ในเดือนม.ค.64 โดยมีปัจจัยลบจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, การสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด, ความกังวลเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ส่วนปัจจัยบวก เช่น ภาครัฐทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด, ข่าวการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด ทำให้ธุรกิจมีความคาดหวังในการฟื้นเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ, เร่งการนำเข้าวัคซีนและกระจายการฉีดให้ประชาชนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน เป็นต้น

ภาคกลาง

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 30.1 ลดลงจากระดับ 30.4 ในเดือนม.ค.64 โดยมีปัจจัยลบ เช่น ความกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิด ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจให้อาจชะลอการลงทุนและลดการจ้างงาน, ปัญหาการว่างงาน, ความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง และต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวและมีคำสั่งซื้อมากขึ้น, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน โดยมีข้อเสนอต่อภาครัฐ เช่น ควรลดขั้นตอนความยุ่งยากในการติดต่อของราชการและสถาบันการเงิน, ควบคุมต้นทุนทางการเกษตร และสินค้าต่างๆ ที่ราคาเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออก

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 33.7 ลดลงจากระดับ 33.9 ในเดือนม.ค.64 โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลจากการระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่หมดไป, มาตรการล็อกดาวน์ และระงับการเดินทางเข้า-ออกในบางจังหวัด, กำลังซื้อลดลง ทั้งจากการท่องเที่ยวและรายได้ปกติ

ส่วนปัจจัยบวก เช่น สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายลง, ภาครัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีข้อเสนอถึงภาครัฐ เช่น ควรส่งเสริมการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ, พัฒนาด้านคมนาคมในชุมชนให้เดินทางได้สะดวก และกระจายเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าสู่ชุมชน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 29.0 ลดลงจากระดับ 29.1 ในเดือนม.ค.64 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย, ความกังวลของเกษตรกรต่อปัญหาภัยแล้ง, ระดับรายได้ที่ลดลงและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐสนับสนุนมาตรการต่างๆ ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่วนข้อเสนอ เช่น เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อไม่ให้โรงงานต่างๆ ย้ายฐานการผลิตออกไป, กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านนโยบายที่เข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับ

ภาคเหนือ

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 29.1 ลดลงจากระดับ 29.3 ในเดือนม.ค.64 โดยปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ, ผู้ประกอบการยังกังวลปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด, นักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง, การหยุดหรือเลิกกิจการ ทำให้คนตกงาน

ส่วนปัจจัยบวก เช่น เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อ ส่วนข้อเสนอแนะ ได้แก่ ให้รัฐช่วยหามาตรการพยุงธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ, ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพ และมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้าและการลงทุน

ภาคใต้

ดัชนี TCC-CI อยู่ที่ระดับ 26.7 ลดลงจากระดับ 26.9 ในเดือนม.ค.64 โดยมีปัจจัยลบ เช่น ภาคการท่องเที่ยวยังซบเซาจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย, สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดยังไม่หมดไป, ปัญหาการว่างงานและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ส่วนปัจจัยบวก เช่น การสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวสวนยางต่อเนื่อง, ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ จากความต้องการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น ส่วนข้อเสนอแนะ ได้แก่ ให้ภาครัฐเร่งเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้มีการฉีดวัคซีนแล้ว, ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ

Back to top button