พาราสาวะถี

ไม่มีนักการเมืองประเทศไหนตลบตะแลง กะล่อน ปลิ้นปล้อน ได้เท่ากับนักการเมืองประเทศไทยอีกแล้ว การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ พรรคสืบทอดอำนาจและส.ว.ลากตั้ง เด่นชัดมาตั้งแต่ต้นไม่ประสงค์จะให้มีการพิจารณาโหวตโดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตีตกร่างแก้ไขที่กำลังพิจารณากันอยู่ เข้าข่ายโมฆะมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจให้มีการโหวต นี่ย่อมสะท้อนภาพการเมืองตีสองหน้า เล่นเกมกันอย่างชัดเจน


อรชุน

ไม่มีนักการเมืองประเทศไหนตลบตะแลง กะล่อน ปลิ้นปล้อน ได้เท่ากับนักการเมืองประเทศไทยอีกแล้ว การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ พรรคสืบทอดอำนาจและส.ว.ลากตั้ง เด่นชัดมาตั้งแต่ต้นไม่ประสงค์จะให้มีการพิจารณาโหวตโดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นการตีตกร่างแก้ไขที่กำลังพิจารณากันอยู่ เข้าข่ายโมฆะมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจให้มีการโหวต นี่ย่อมสะท้อนภาพการเมืองตีสองหน้า เล่นเกมกันอย่างชัดเจน

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเลือกเล่นบทไหนก็ตาม โดยพรรคเก่าแก่ได้แสดงท่าทีอันเด่นชัดว่า คำวินิจฉัยยังมีปัญหา ดังนั้น จึงเสนอให้มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกกระทอกเพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่สัญญาณที่ส่งไปเพื่อนในพรรคแกนนำรัฐบาลไม่เอาด้วยเพราะมีธงไว้อยู่แล้ว จึงมีเพียงพรรคคู่หูในรัฐบาลเท่านั้นที่เห็นดีเห็นงามด้วย แต่สุดท้าย ก็ไม่อาจทานทิศทางที่เขาต้องการจะล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ส.ส.พรรคเก่าแก่จึงหันไปโหวตผ่านร่างในวาระ 3 เหมือนพรรคฝ่ายค้าน

ขณะที่พรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล ถ้าบอกว่าเป็นการแสดงละครถือว่าส.ส.ทุกคนตีบทแตกกระจุย ทั้งการวอล์คเอาท์จากที่ประชุม โดย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ถึงกับประกาศกลางสภา ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก” ส่วนนอกห้องประชุมก็มี ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคตั้งโต๊ะแถลงข่าวยกแม่น้ำทั้งห้ามาแจกสารพัด พร้อมด้วยภาพน้ำตาคลอเบ้า ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีส.ส.ร.ได้

ทั้งหมดเหล่านี้ หากมีความจริงใจจริงและมองประชาชนเป็นด้านหลัก โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญคือปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ สองพรรคการเมืองดังว่า จะต้องไม่เล่นละครตบตาแค่ในสภาอย่างเดียว ต้องมีผลถึงการร่วมรัฐบาล อย่ามาอ้างว่านี่คืองานฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวกับงานของฝ่ายบริหาร เพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นคนแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วยตัวเอง

การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพวกตัวเองเป็นผู้เสนอ ก็เท่ากับเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า สิ่งสำคัญการปฏิเสธนโยบายเร่งด่วนของตัวเอง ก็เท่ากับเป็นการโกหกประชาชนคนทั้งประเทศ เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศตัวว่าเป็นพรรคแรกพรรคเดียวของประเทศที่มุ่งมั่นและทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ถูกล้มแบบไม่ไว้หน้าเช่นนี้ เมื่อภูมิใจไทยอ้างว่าต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งอาจจะอ้างได้ว่าเช่นนั้นก็ต้องไปทำประชามติว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจกันหรือไม่

สิ่งที่จะต้องแสดงออกอย่างแข็งขันของทั้งสองพรรคต่อการร่วมสังฆกรรมกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อไป ก็คือ ต้องกดดัน เร่งรัดให้เกิดการทำประชามติโดยเร็ว ซึ่งอาจจะต้องยื่นเป็นเงื่อนไขให้กำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจนในการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ด้วยเสียงในสภาและกลไกที่วางกันมาไว้เช่นนี้ คงไม่มีใครทำอะไรได้ แต่ประชาชนจะเป็นผู้ชี้ชะตาเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าสังเกตต่อการโหวตหนนี้ ที่ไม่ใช่เฉพาะส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจที่ตั้งใจงดออกเสียงอยู่แล้วและส.ว.ที่ก็รู้กันอยู่ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร ยังมีส.ส.ฝ่ายค้านอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมเปล่งวาจาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่าใช้วิธีเงียบเอาตัวรอด ทำให้ จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้หน้าคนพวกนี้ว่า “ส.ส.ที่ไม่ยอมลงมติคือส.ส.ที่ไม่ทำหน้าที่ ไม่มีความกล้าหาญ ประชาชนควรจดจำชื่อเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งที่ส.ส.บางส่วนกลัวนั้นมันก็จะถูกนำไปดำเนินการจริงเมื่อ ศรีสุวรรณ จรรยา ออกมาประกาศลั่นแล้วว่า ทุกสมาชิกรัฐสภาที่โหวตให้ผ่านวาระ 3 ไปต้องรับผิดชอบ เพราะเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงเดี๋ยวเจอกันที่ป.ป.ช. ซึ่งกรณีนี้จาตุรนต์เองก็สะกิดไว้เหมือนกันแต่ต่างจากที่นักร้องขาใหญ่ขู่ “การจะใช้ป.ป.ช.เล่นงานส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบ คือใช้ทุกวิถีทางทำลายรัฐสภา แต่รัฐสภาตกลงเดินหน้าลงมติวาระที่สาม และการลงมติเป็นเอกสิทธิ์และเป็นการยืนยันอำนาจของรัฐสภา”

ภาพสะท้อนของความย่ามใจและมั่นใจว่าสิ่งที่คณะของตัวเองวางแผนไว้นั้นไม่มีใครหน้าไหนมาล้มล้างได้ แม้กระทั่งพรรคที่ร่วมรัฐบาลเองก็ไม่มีทางตีจาก คงเป็นคำพูดของผู้จัดการรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภาว่า ไม่ได้หักหลังพรรคร่วมแต่ดึกแล้วจึงต้องโหวต วลีทองที่ไม่รู้ว่าจะช่วยเรียกสำเหนียกผิดชอบชั่วดีของพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญได้หรือไม่คือสิ่งที่พูดว่า “รัฐธรรมนูญต้องแก้ แต่เมื่อไหร่ไม่รู้” นี่คือการดูแคลนสติปัญญา และความสามารถของนักการเมืองอาชีพอย่างแท้จริง

คงต้องถือเป็นความโชคร้ายของประเทศ เพราะความจริงสิ่งที่จะช่วยหยุดขบวนการสืบทอดอำนาจได้ตั้งแต่หลังเลือกตั้งก็คือ การที่สองพรรคการเมืองสำคัญไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้ง แต่อาศัยเสียงส.ว.ลากตั้งที่จะไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมาเป็นตัวต่อรอง ถ้าครั้งนั้นทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร่วมไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หรือปล่อยให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไปตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อนาคตของประเทศก็ไม่น่าจะเป็นอย่างที่เห็น

ไม่ต้องยกเหตุผลอะไรมาอธิบาย การตัดสินใจครั้งนั้นมันชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ใช่การตัดสินใจเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะหาข้ออ้างอะไรมาเพื่อให้สามารถเข้าร่วมขบวนการเสวยสุขในตำแหน่งได้ ปลายทางก็มองกันออกอยู่แล้วว่า ไม่มีทางที่จะเข้าไปจัดการสิ่งที่เผด็จการได้วางกับดักเอาไว้ น่าเสียดาย ที่ได้อำนาจจากประชาชนมาแล้ว แต่ไม่กล้าที่จะใช้ไปเพื่อการกำจัดเผด็จการสืบทอดอำนาจ มิหนำซ้ำ ยังทำตัวเป็นเบี้ยล่างคอยรับเศษทานผลประโยชน์ในฐานะฝ่ายรัฐบาล ไม่ต้องโทษปัญหาความขัดแย้งว่าเป็นตัวฉุดรั้งประเทศ ต้องโทษนักการเมืองเสพติดอำนาจนี่แหละที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ

Back to top button