วัคซีนกู้เศรษฐกิจ

“PM to Finally get Vaccinated today”


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

“PM to Finally get

Vaccinated today”

พาดหัว 2 ชั้นระดับรองข่าวนำบนหน้า 1 ของนสพ.บางกอก โพสต์ ฉบับวันที่ 16 มี.ค. 64 พาดหัวได้ “โดนใจ” และเป็นปัจจุบันที่สะท้อน “อดีต” ได้ดีเหลือหลายจริง ๆ และเป็นพาดหัวที่ “กินใจ” กว่านสพ.ฉบับไทยทั้งมวลเป็นอันมาก

PM ก็คือ Prime Minister นายกรัฐมนตรี “ในที่สุดแล้ว วันนี้ ก็ต้องฉีดวัคซีนจนได้” หรือนัยยะแบบไทย ๆ ของเรา ก็อาจจะพาดหัวได้ว่า “นายกฯ ฉีดซะที มีวันนี้จนได้”

ครับ นัยยะปัจจุบันที่สะท้อนอดีตก็คือ มันมีความล่าช้าระดับชาติในการจัดหาวัคซีนโควิด เพราะการไปผูกติดกับวัคซีนโควิดตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป จึงไม่มีวัคซีนให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งปัจจุบันก็มีวัคซีนให้เลือกเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น คือ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา

ซิโนแวค เป็นวัคซีนใกล้มือ ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ สู้วัคซีนอีกตัวหนึ่งของจีนไม่ได้คือ ซิโนฟาร์ม แต่ก็ยังไม่มีประวัติอันตรายในเรื่องของผลข้างเคียง เมื่อรัฐบาลเผชิญแรงกดดันหนักหน่วงให้รีบจัดหาวัคซีน ซิโนแวคจึงเป็นคำตอบที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด

นายกฯ ประยุทธ์ เดิมก็ตั้งใจจะฉีดวัคซีนเข็มแรกกับซิโนแวคนี้ แต่ได้รับการทัดทานว่าอายุเกิน 60 จึงรีรอยังไม่ฉีด

ครั้นแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยลอนดอน ที่รัฐบาลไทยฝากความหวังและมอบความไว้วางใจให้มากที่สุด ส่งคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ถึง 61 ล้านโดส แต่ดันกลายเป็นวัคซีนที่ก่อความตื่นตระหนกมากที่สุดในผลข้างเคียง ที่อาจจะก่อให้เกิดเส้นเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำเสียนี่

ชาติในประชาคมยุโรปนำโดย 3 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ถึงกับประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นการชั่วคราว นายกฯ ประยุทธ์ ซึ่งประกาศจะฉีดเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มี.ค. ก็ต้องล้มเลิกกลางคัน ส่งผลเสียหายต่อความน่าเชื่อถือไม่น้อย แต่ก็กลับลำมาฉีดจนได้เมื่อวันอังคารที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมานี้

ถึงได้เป็นที่มาของคำพาดหัวข่าวว่า “นายกฯ ฉีดซะที มีวันนี้จนได้” ไง

โลกเราใบนี้ มีวัคซีนอีกมากมายให้เลือกใช้ และก็ไม่ปรากฎเรื่องราวให้วิตกจริตเกี่ยวกับความปลอดภัยเหมือนเช่นแอสตราเซเนกาด้วย อาทิ ไฟเซอร์/ไบออนเทค ที่บัดนี้ชาติอิสราเอลได้ฉีดกันทั้งประเทศ 100% กันแล้ว, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, สปุตนิก และซิโนฟาร์ม

วัคซีนต้านโควิด คือ กุญแจสำคัญไปสู่การฟื้นฟูและกอบกู้เศรษฐกิจ!

คนไทย 66 ล้านคน อย่างน้อย ก็ควรจะได้ฉีดวัคซีนในระดับ 60% หรือ 39 ล้านคนขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะได้ไม่ต้องมานั่งรอรับเศษเงินจากโครงการไทยชนะ-ไทยแพ้หรือไทยอะไรกันอีกต่อไป

แต่นี่ คนไทยเพิ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนแค่ 50,000 กว่าคนเอง ยังไม่ถึง 0.1% ของจำนวนประชากรด้วยซ้ำ ตัวเลขกระจ้อยร่อยแค่นี้ จะไปจับคู่ “ทราเวิล บับเบิล” กับใครเขาได้ล่ะ

การจัดหาวัคซีน ก็ควรใช้วิธีกระจายหลายยี่ห้อ ไม่ใช่กระจุกตัวแต่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง อันทำให้จัดสรรวัคซีนได้ช้า และไม่ประกันในเรื่องของความปลอดภัย ดังเช่นที่เกิดในกรณีแอสตราเซเนกา

ซึ่งเรื่องนี้ รัฐพึงยืดถือเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าได้นำเรื่องเอาแพ้เอาชนะกันทางการเมืองมาเป็นที่ตั้งอีกเลย

รัฐควรเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมนำเข้าวัคซีนไปฉีดให้แก่ประชาชนที่มีฐานะ เพื่อความรวดเร็วและทั่วถึงอีกด้วย

แต่นี่กระบวนการอาหารและยาหรืออ.ย.ของเรา ยังทำงานเชื่องช้ามาก เพิ่งให้ใบอนุญาตไปแค่ 2 รายเท่านั้นคือ ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกา โรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมจึงยังไม่สามารถนำเข้าวัคซีนที่อย.ยังไม่รับรองได้

วัคซีนมาหาคุณแล้ว” ไม่ใช่เป็นเรื่องของการผูกขาดอีกต่อไป โลกทั้งโลกกำลังเตรียมการเปิดประเทศ สิงคโปร์กำลังเตรียมการจับคู่กับออสเตรเลียเป็น”ทราเวิล บับเบิล” และอีกหลาย ๆ คู่กำลังจะตามมา สายการบินต่าง ๆ กำลังจัดทำแอปพลิเคชันรองรับ “วีซ่า พาสปอร์ต” เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนเข็มเดียว เดินทางไปทั่วโลก

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ถึงกับใช้จุดขาย “วัคซีนฟรี” เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

ประเทศไทยเราสามารถจะคิดตั้งเป้า “นิวนอร์มัล” ให้เหนือกว่ามาตรฐานเฉลี่ยได้ โดยไม่เอาการแพ้ชนะกันทางการเมืองมาเป็นอุปสรรค

Back to top button