พาราสาวะถี

แสดงออกถึงความมั่นใจถึงที่สุด ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงได้ประกาศศักดาออกมาอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม “ใครอยากตัดวงจรสืบทอดอำนาจก็แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน” แน่นอนว่า หากเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยปกติ ไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายเช่นนี้ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย ทั้งจากการลุกขึ้นมาประท้วงของประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และจะสั่นคลอนด้วยพลังทำลายล้างขององค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ


อรชุน

แสดงออกถึงความมั่นใจถึงที่สุด ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงได้ประกาศศักดาออกมาอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม “ใครอยากตัดวงจรสืบทอดอำนาจก็แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน” แน่นอนว่า หากเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งโดยปกติ ไม่มีใครกล้าที่จะท้าทายเช่นนี้ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย ทั้งจากการลุกขึ้นมาประท้วงของประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และจะสั่นคลอนด้วยพลังทำลายล้างขององค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ

ทว่าในยุคเผด็จการสืบทอดอำนาจหลังโชว์ศักยภาพในการกวาดล้างม็อบเมื่อ 20 มีนาคมโดยไม่สนใจว่าจะจับกุมเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ ขัดต่อกฎบัตร สนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือเปล่า แต่สิ่งที่ดำเนินการเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของการยึดกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ มั่นใจได้ว่าไม่มีใครกล้าหือ เชื่อมั่นในการจัดวางทั้งองค์กรและตัวบุคคลที่สามารถควบคุมได้ ทั้งที่ ยุคสมัยแห่งความขัดแย้งภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีการกล่าวหาเพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระ

การประกาศของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นการยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขไม่ได้นั้นดีไซน์มาเพื่อพวกเราจริง ๆ และก็คงเป็นอย่างที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต  ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับที่รังสรรค์ขึ้นโดยคณะรัฐประหารยังคงอยู่สืบไป มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่คอยทำหน้าที่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการได้สืบทอดอำนาจ และคอยลิดรอนอำนาจของประชาชน พอประชาชนไม่ยอมจำนน ไม่ยอมสยบยอมต่อคำสั่งของเผด็จการก็จะถูกนิติสงคราม และถูกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเล่นงานอย่างสองมาตรฐาน

แน่นอนว่า ประเทศที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองแบบนี้จะเดินหน้าไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เหตุที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสามารถท้าทายประชาชนและแสดงความอย่างหนาได้อย่างถึงที่สุดนั้น คงเป็นเพราะมีมือกฎหมายที่สามารถพลิกแพลงหาทางออกให้กับท่านผู้นำได้ทุกสถานการณ์อยู่ข้างกายด้วยกระมัง ดังจะเห็นได้จากคำตอบของ วิษณุ เครืองาม ล่าสุดที่นักข่าวถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อร่างกฎหมายที่เสนอไปมีปัญหาในการเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา

โดยศรีธนญชัยรอดช่องยกกรณีของกฎหมายประชามติที่ต้องชะลอการพิจารณาในวาระ 2 ออกไปว่า ต้องเข้าใจร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นของรัฐบาล เป็นกฎหมายปฏิรูป และกฎหมายสำคัญ ต้องเข้าใจคำว่าผ่าน ไม่ผ่าน ซึ่งไม่ได้มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นประเพณีการปกครองของในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ถ้ารัฐบาลเสนอกฎหมายแล้วไม่ผ่านวาระ 1 ตรงนั้นจะมีผลกระทบ เช่น ลาออกหรือยุบสภา เพราะแสดงว่าสภาไม่ไว้วางใจ

แต่เมื่อกฎหมายประชามติผ่านวาระ 1 สภารับร่างไปแล้ว ต่อมามีการแก้ไข การแก้ไขจึงเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการในสภาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ผลจะออกมาไม่เหมือนกันกับคำว่าไม่ผ่าน เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าพรรคเพื่อไทยเรียกร้องรัฐบาลแสดงความผิดชอบต่อการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา วิษณุก็ย้อนถามนักข่าวต่อว่าใช่หรือไม่ แล้วยังอ้างด้วยว่าไม่เป็นไรพรรคเพื่อไทยก็พูดทุกวันอยู่แล้ว เดี๋ยวคนนั้นพูด คนนี้พูด พร้อมพาดพิงไปถึง อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ว่ายังบอกให้ยุบสภาเสียด้วยซ้ำ

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่สนใจเสียงทักท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่บอกว่าเป็นอัตลักษณ์ของเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ไม่เหมือนใครและคงไม่มีใครอยากเหมือน แทนที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะออกมาชี้แจงขอโทษประชาชนในความล่าช้าที่เกิดขึ้น และประกาศเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีกำหนดการที่ชัดเจน แต่กลับให้สัมภาษณ์ในเชิงท้าทายประชาชนว่าแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน ชี้ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ไม่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการหลังจากนี้ที่ฝ่ายการเมืองโดยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพยายามจะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น ก็มีประเด็นชวนกังขากันหลายประการ โดยเฉพาะท่าทีของพรรคสืบทอดอำนาจ เอาแค่คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสมัยรัฐบาลนี้ ก็คงไม่มีคำยืนยันใด ๆ เพราะผู้จัดการรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกลูกเฉไฉตามสไตล์ มิหนำซ้ำ ยังโชว์หัวหมออีกต่างหาก “ผมจะไปรู้ได้อย่างไร ถ้าไม่ทำตามศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้”

เรียกได้ว่า ตีกรรเชียงกันทุกทาง ไม่เพียงเท่านั้น ยังบอกด้วยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นหน้าที่ของสภาแต่เพียงผู้เดียว โดยคงลืมไปว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นผู้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วยตัวเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 หรือจะบอกว่าก็บรรจุและทำไปแล้ว แต่มีปัญหา ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ถือว่าพ้นไปจากความรับผิดชอบของรัฐบาลไปแล้ว เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะไปดำเนินการกันในสภา

อย่างที่บอกเรื่องตีเนียนตีมึนเผด็จการสืบทอดอำนาจถนัด ประเด็นการคว่ำร่างกฎหมายประชามติในวาระ 3 ที่ส่งสัญญาณมาจากส.ว.ลากตั้งบางคน คงไม่ใช่เรื่องคาดเดาเอาใจนาย แต่เป็นเรื่องที่รับคำสั่งตรงมาจากนายผู้มีพระคุณแล้วว่า เมื่อเสียหน้าพ่ายโหวตกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ถึงขนาดกุนซือกฎหมายรัฐบาลบอกว่าประมาทหรือเผลอไป จึงจำเป็นที่ต้องขอเวลานอก เมื่อแก้ไม่เสร็จก็ต้องขอเวลาพิเศษ แล้วพักการประชุมจนต้องเลื่อนออกไป

บทสัมภาษณ์ของกุนซือกฎหมายและท่าทีล่าสุดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่อ้างว่าเกรงว่าจะมีการล้มกฎหมายประชามติในวาระ 3 เหมือนกัน ก็เหมือนเป็นการส่งซิกกลาย ๆ ว่าถ้าอำนาจของรัฐบาลถูกท้าทายเช่นนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องยอมให้กฎหมายผ่านแล้วต้องทำตามสิ่งที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอขอแก้ไข กุมเสียงข้างมากขนาดนี้มาตกม้าตายง่าย ๆ ได้อย่างไร บอกแล้วว่าเผด็จการหน้าทนไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดถึงถูกผิดเหมาะสม อะไรที่ข้าเห็นว่าไม่ดีไม่มีประโยชน์ต่อข้าและพวกพ้องของข้าย่อมเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ทั้งหมด

Back to top button