เช็กเลย! 4 แบงก์คลอดมาตรการ “พักหนี้” เยียวยาลูกค้ากระทบ “โควิด” ระลอก 3

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาด …


สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ประชาชนหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบในเรื่องการขาดรายได้ เป็นเหตุให้ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้บ้านที่ติดค้างธนาคารอยู่ ซึ่งบางธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการสั่งพักชำระหนี้ แต่ยังคงให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยอยู่

พร้อมกันนี้ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. เห็นชอบออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งสิ้น 9 มาตรการ โดยในมาตรการดังกล่าวมีมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 และมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)

ทั้งนี้ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารที่มีมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย ดังนี้

 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ออกมาตรการความช่วยเหลือ โดยสอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 2 มาตรการ ดังนี้

  1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ทั้งนี้ ปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
  • ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK ไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอกู้เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อราย (รวมสินเชื่อ Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก. ช่วยเหลือในปี 2563)
  • ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน)
  1. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้)

EXIM BANK รับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อนำมาชำระหนี้กับ EXIM BANK เป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว โดยไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินและมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับแต่วันที่รับโอน

ปัจจุบันมีลูกค้า EXIM BANK สนใจขอรับมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวจำนวนประมาณ 940 ราย เป็นวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความจำนงขอรับมาตรการ หรือสอบถามได้ที่ EXIM HOTLINE เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการจากโควิด-19 โทร. 0 2037 6099

 

2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ผ่าน 2 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเติมวงเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยลูกค้าเดิม สามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท

โดยให้นับรวมวงเงิน Soft Loan เดิม ที่เคยได้รับ กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไปคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 4.875 ต่อปี หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี ตามประเภทลูกค้า

ขณะที่รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าได้รับเงินกู้ หรือตามที่ ธปท. กำหนด โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อตามมาตรการนี้

2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่และได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน (Fire Sale) และช่วยให้สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งในการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะให้สิทธิลูกค้าที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าของทรัพย์สินกำหนด

สามารถเช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและซื้อคืนได้ภายตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 5 ปี กรณีมีต้นเงินและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดอายุสัญญาไม่เกิน 20 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไป กรณีเป็นผู้ประกอบการและสถาบัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี)

และกรณีเป็นเกษตรกรและบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR – 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) นอกจากนี้ สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ได้

ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand : SET) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02 555 0555

 

3.ธนาคารออมสิน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ถึง 31 ธ.ค. 2564 ได้ผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติหลักการในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ขณะเดียวกัน ช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปพลิเคชั่น MyMo และมีความต้องการสินเชื่อนั้น สามารถขอสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ได้ ซึ่งวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุด 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

“เราจะทยอยเปิดลงทะเบียนขอสินเชื่อเป็นระยะ ๆ ซึ่งระยะแรกเราจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอป MyMo จำนวน 9.2 ล้านคน เข้ามาขอสินเชื่อผ่านแอปก่อน จากนั้นจะให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และจากระยะถัดไปจะเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่มีแอป MyMo เข้ามาลงทะเบียน

โดยวิธีดังกล่าวจะป้องกันระบบในการลงทะเบียนไม่ให้แอป MyMo ล่ม และป้องกันการเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร ซึ่งจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย แล้วออมสินก็จะดำเนินการคัดกรองคุณสมบัติตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อต่อไป”

สำหรับสินเชื่อดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 1 ล้านราย โดยที่ผ่านมาออมสินก็ได้ออกโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรูปแบบเหมือนกันสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 สามารปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 1.9 ล้านราย

พร้อมกันนี้ ธนาคารฯกำหนดมาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้ที่ต้องขาดรายได้หรือรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ

  1. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo
  2. ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการเสริมจากการแก้ไขปัญหานี้ค้างชำระ ที่ธนาคารฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามงวดชำระเดิม โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 5 แสนราย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115 facebook : GSB Society และขอย้ำว่าธนาคารฯ ให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMo เท่านั้น

 

4.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ระลอกใหม่ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการ พักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจเพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวนั้น

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการธนาคาร โดยนายยุทธนา หยิมการุณ ประธานกรรมการธนาคาร ได้มีมติเห็นชอบให้ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ผ่านมาตรการที่ 13 และ 14 ซึ่งเป็น 2 มาตรการใหม่ ต่อเนื่องจากมาตรการที่ 1-12 ที่ธนาคารเคยให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน

โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL ระหว่างวันที่ 11-29 พฤษภาคม 2564 โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมกับ Upload หลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น หรือ กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th

ทั้งนี้รายละเอียดของมาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 13 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ไม่เคย หรือเคยใช้ หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการ ความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 รวมถึงยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาเงินกู้

มาตรการที่ 14 : พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน(1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถ ผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center)โทร 0-2645-9000 Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ www.ghbank.co.th

Back to top button