‘คนโง่’ รจตกม.

เติ้ง เสี่ยว ผิง รัฐบุรุษแห่งบูรพาทิศ พูดถึงคุณลักษณะ “คนโง่” จะไม่ทำอยู่ 2 อย่าง คือ 1 ตำหนิตนเอง และ 2 ยกย่องสรรเสริญผู้อื่น


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

เติ้ง เสี่ยว ผิง รัฐบุรุษแห่งบูรพาทิศ พูดถึงคุณลักษณะ “คนโง่” จะไม่ทำอยู่ 2 อย่าง คือ 1 ตำหนิตนเอง และ 2 ยกย่องสรรเสริญผู้อื่น

คนโง่” ทำอะไรเชื่องช้า ก็มักอ้างอุปสรรคขัดขวางจากภายนอก อาทิ ถูกบิดเบือน โดนกลั่นแกล้ง หรือขาดความรู้ความเข้าใจ แต่ไม่เคยกล่าวโทษตัวเอง ซึ่งก็แน่ล่ะว่า ไม่มีการเอ่ยคำ “ขอโทษ” จากปากเขาผู้นั้นแน่นอน

ขณะเดียวกันก็ไม่เคยกล่าวยกย่องผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่เขาเคยกล่าวตำหนิเอาไว้ แม้ความจริงปรากฏภายหลังว่า ความเห็นผู้ถูกเขากล่าวตำหนินั้นถูกต้อง ก็กล้า “ตีเนียน” เสมือนทำตามความคิดตนเองไป

 คำ “ขอโทษ” สักคำ ก็ย่อมไม่มีให้เห็นแน่นอน

กรณีคำท้วงติงในเรื่องของวัคซีน ที่ “แทงม้าตัวเดียว” และก่อเกิดความล่าช้า เป็นอุธาหรณ์อันดี บอกเรื่องราวข้างต้นทั้งหมด จวบจนเวลาล่วงเลยมากว่า 1 ปี ถึงจะสำนึกได้ว่า ต้องเพิ่มความหลากหลายในการใช้วัคซีน เพราะในโลกนี้ยังมีวัคซีนตัวที่ดีกว่าแอสตราเซเนกา อันเป็นวัคซีนหลัก

ต้องสั่งซื้อวัคซีนเพิ่ม ซึ่งทีแรกจะเอาแค่ 63 ล้านโดส มาเป็น 100 ล้านโดส และปรับเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 150 ล้านโดส และต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ

อนิจจากว่าจะรู้ตัวก็สายไปกว่า 1 ปี จนเศรษฐกิจพังพินาศต่อหน้าต่อตาไปแล้ว ส่วนการต่อสู้เอาชนะโควิดก็ยังลูกผีลูกคน เพราระบบบริหารจัดการที่ชุลมุนชุลเก

ข้อมูลการฉีดวัคซีนต้านโควิดทั่วประเทศจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ค่อยกระเตื้องขึ้นมาหน่อยที่ 37,111 โดส ทำให้มียอดสะสมรวมทั้งสิ้น 1,935,565 โดส

แต่ถ้าคิดอัตราการฉีดเฉลี่ยต่อวันตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 มา ก็เพียงแค่ 26,514.58 โดส ยังครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 2.07 เท่านั้น

เป้าหมายครึ่งปีหลังจะฉีดให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส หรืออัตราฉีดเฉลี่ยวันละ 3 แสนกว่าโดส และภายในสิ้นปี 2564 จะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 70 ก็ยังห่างไกลเอาการอยู่มาก!

ประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ต่ำมาก กลายเป็นระบบรวมศูนย์ที่เชื่องช้า ขาดระบบการกระจายเพื่อเพิ่มปริมาณการฉีดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และละเลยศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนโดยสิ้นเชิง

การกระจายพื้นที่ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอาจเป็นภาพลวงตา เพราะจำนวนบุคลากรทำหน้าที่ ยังคงมีเท่าเดิม

การฉีดวัคซีน ควรต้องเป็นระบบบูรณาการที่ระดมทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันทั้งหมด

วันนี้อาจจะแบ่งพื้นที่และบุคลากรเป็น 4 ภาคส่วน นั่นคือ โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลประกันสังคมตามผู้ประกันตนเลือก และสถานที่นอกโรงพยาบาล เช่นห้างสรรพสินค้า สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่นพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย

หากทำได้ ก็จะเป็นระบบบูรณาการ ใช้กำลังทุกภาคส่วนที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเป็น 3-5 แสนโดสต่อวันได้ ไม่ใช่กระจิดริดแค่ 2-3 หมื่นโดสเช่นทุกวันนี้

ในภาวะที่ 6 ชาติในอียู ยังมีคำสั่งระงับยับยั้งการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา อันเป็นวัคซีนหลักของไทย หรือสหรัฐอเมริกา แสดงความไม่ประสงค์จะใช้งานแอสตราเซเนกาจำนวน 6 ล้านโดส ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดี ที่ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายทางการทูต ไปหยิบยืม ขอซื้อ หรือรับบริจาคมาก่อน

เพื่อนำแอสตราเซเนกามาฉีดให้คนไทยโดยไม่ขาดตอน แทนจะรอคอยการส่งมอบแบบกะปริดกะปรอยตั้งแต่ปลาย พ.ค.เป็นต้นไป

เรื่องนี้จำเป็นนะครับ เพราะขณะนี้ รัฐบาลมีวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือซิโนแวคและ AZ ในมือรวมกันแค่ 3.5 ล้านโดสเท่านั้น ต้องรอไปเดือน มิ.ย.ถึงจะมี 6 ล้านโดสจากการผลิตในประเทศ และอีกเดือนละ 10 ล้านโดสไปจนถึงสิ้นปี

ถึงเวลาจริง จะได้รับวัคซีนตามนัดหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย ฉะนั้นหาวิธีเอาชัวร์ไว้ก่อนจะดีกว่า

สิ่งที่อยากจะฝากไว้เป็นประการสุดท้ายก็คือ สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน เพิ่มความรุนแรงและอันตรายต่อชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอันมากถึง 15 เท่า หากจะยังใช้วิธีการปกติก็คงไม่ทันกิน

เห็นควรว่า ควรจะรวบขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิดมาเป็นการฉีดวัคซีนเสียเลยทีเดียว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองต้นทุนค่าน้ำยาครั้งละ 3,000 บาทได้แล้ว ขั้นตอนการตรวจควรทำเฉพาะกรณีผู้มีอาการเท่านั้น

หวังว่าความฉลาดจะเข้ามาแทนที่ความโง่เสียที เพราะไม่เช่นนั้น… “รจตกม” เราจะตายกันหมด

Back to top button