โลกสวย ‘การบินไทย’

ใครซื้อหุ้นการบินไทย? ใครนะใคร? รู้หรือเปล่าว่า หุ้น THAI ตัวนี้ อาจจะพักการซื้อขายยาวไป 2-3 ปี หรืออาจจะไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาซื้อขายอีกเลย หากการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ใครซื้อหุ้นการบินไทย? ใครนะใคร? รู้หรือเปล่าว่า หุ้น THAI ตัวนี้ อาจจะพักการซื้อขายยาวไป 2-3 ปี หรืออาจจะไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาซื้อขายอีกเลย หากการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ

แม้กระทั่งการซื้อขายวันสุดท้าย ก่อนขึ้นเครื่องหมาย SP ยาวไม่มีกำหนด เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา นักเลงหุ้นก็ยังเข้าไปดวลเพลงซื้อขายกันมันหยด

ราคาหุ้นการบินไทยพุ่งสูงเสียดฟ้าชนซิลลิ่งไปเลย ปิดที่ราคา 3.32 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่น 413.3 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ชนเพดานช่วงซื้อขายภาคบ่ายเสียก่อน มูลค่าการซื้อขายคงจะหนาแน่นมากกว่านี้ อาจจะถึง 7-8 ร้อยล้านบาท เลยทีเดียว

ไม่รู้ว่า ไล่ซื้อกันจนชนซิลลิ่งค้างฟ้า เพื่อจะเอาไปขายใคร

หรือนักลงทุนอาจจะคาดหวังราคาอ้างอิง ที่ตามแผนจะมีการเพิ่มทุน THAI ในราคาหุ้นละ 3.86 บาท แต่ก็อย่าลืมข้อเท็จจริงด้วยว่า การเพิ่มทุนจะมีได้ใน 2 ปี ภายหลังศาลฯ เห็นชอบแผน อันเป็นอนาคตที่ไม่แน่ไม่นอนเอาเสียเลย

แล้วเมื่อไหร่ ศาลฯ ถึงจะเห็นชอบแผนล่ะ!

การบินไทยมีสถานะทางการเงินหนักเอาการ ณ สิ้นปี 2563 มีผลดำเนินงานขาดทุนสะสม 141,180 ล้านบาท ส่วนทุนติดลบ 128,742 ล้านบาท และมีหนี้สิน 337,456 ล้านบาท มากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 208,791 ล้านบาท

เท่ากับส่วนทุนก็ติดลบ และหนี้สินก็มีมากกว่าทรัพย์สินถึง 128,665 ล้านบาท จึงเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ไม่น้อยในการกอบกู้

ตามแผนการฟื้นฟู ก็ต้องมีทั้งการลดทุน เพิ่มทุน และแปลงหนี้เป็นทุนตามสูตร แต่ไม่มีการแฮร์คัตหรือการลดหนี้เท่านั้น อันแตกต่างไปจากการทำแผนฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั่วไป

ก็คงจะเป็นเพราะความเกรงใจเจ้าหนี้สหกรณ์ในราว 7 หมื่นล้านบาทล่ะนะ แต่เจ้าหนี้ภาคการเงินและเจ้าหนี้การค้าก็ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยไปด้วย

การแก้ไขปัญหาส่วนทุนติดลบกว่า 1.2 แสนล้านบาท และขาดทุนสะสมที่มีมากกว่า 1.4 แสนล้านบาท นอกจากการสร้างรายได้และผลกำไรจากผลประกอบการที่ดีขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถจะใช้เครื่องมือทางการเงินเช่นการลดทุน-ลดพาร์ (10 บาท) มาช่วยให้สถานะทางการเงินดูดีขึ้นได้อีก

แต่ปัจจัยชี้ขาดหลักที่จะทำให้การบินไทยฟื้นฟูและกลับมาดำเนินงานตามปกติได้ ก็ยังอยู่ที่ผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีบรรษัทภิบาลอย่างสูงยิ่งขึ้น และขจัดจุดอ่อนที่แล้วมาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเอเยนต์ การจัดซื้อจัดจ้าง และบุคลากรที่เป็น “มืออาชีพ”

ผมว่ามันเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนักหรอก อาจจะใช้เวลาในการฟื้นฟูเยียวยายาวนานกว่า บริษัท ทีพีไอ ในอดีต หรือ บริษัท ไออาร์พีซี ในปัจจุบัน ด้วยซ้ำ

เนื่องจากยังไม่รู้ว่า วิกฤตโควิด-19 ในระดับโลกและระดับชาติของเรา จะคลี่คลายได้เมื่อใด ซึ่งยิ่งช้าไป ก็จะยิ่งเพิ่มความยากลำบากในการฟื้นฟูกิจการการบินไทยมากขึ้นเท่านั้น

ในด้านหนึ่ง การ “ปล่อยผี” หุ้นการบินไทยโค้งสุดท้ายให้เทรดกันอย่างคึกคัก ก็ต้องชมเชย “นักลงทุนใจกล้า” ที่เข้าไปเสี่ยงกับการซื้ออนาคตยาวนานที่หุ้นอาจจะโดนแขวน SP ไปอีกนาน ตามชะตากรรมที่แขวนไว้กับแผนฟื้นฟูกิจการ

มันต่างกันลิบลับทีเดียวกับการเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อรอรับเงินปันผล หรือรอวันนำหุ้นไปขายเทนเดอร์

ส่วนอนาคตการฟื้นฟูการบินไทย กลายเป็นว่า ต้องไปผูกกับความสามารถในการฉีดวัคซีนของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผมก็ยังคงยืนยันว่าหน่วยงานรัฐ ยังคง “สอบตก” เพราะขาดคุณสมบัติพื้นฐานในการบริหารจัดการอย่างแรง

ตัวเลขการฉีดวัคซีนในวันที่ 18 พ.ค.จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อย ฉีดวัคซีนวันเดียวได้ถึง 104,650 โดส ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

แต่หากคิดยอดสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-18 พ.ค.เป็นจำนวนรวม 80 วัน จากยอดฉีดสะสมทั้งสิ้น 2,445,645 โดส ก็จะมีอัตราค่าเฉลี่ยการฉีดแค่วันละ 30,570 โดสเท่านั้น ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายมาก

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเป็นนโยบายว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมผู้รับวัคซีน 50 ล้านคน หรือร้อยละ 75 ของประชากร

ตอนนี้ ฉีดไปแล้ว 2,445,645 โดส เหลือเป้าหมายที่จะต้องเติมเต็มอีกประมาณ 147.55 ล้านโดส และยังเหลือเวลาอีก 227 วัน กว่าจะถึงสิ้นปี

ฉะนั้นจากนี้ไป จะต้องฉีดให้ได้วันละ 650,000 โดสโดยเฉลี่ย อันไม่ใช่วันละ 3 หมื่นโดส หรือ 1 แสนโดสแน่นอน

รัฐบาลประยุทธ์ เร่งฉีดวัคซีนให้เข้าเป้า เพื่อฟื้นฟูการบินไทยและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศชาติไปพร้อมกันด้วย เถอะครับ

Back to top button