คอยโกโดต์พลวัต2015

ในที่สุด การประมูลรถเมล์NGV ของ ขสมก. จำนวน 489 คัน ก็ทำท่าจะล้มประมูล ด้วยฝีมือของ “ไอ้โม่ง” บางคน ภายใต้กระบวนการสมรู้ร่วมคิดโดยอ้างถึงอะไรก็ไม่รู้ต่อหน้าต่อตาของรัฐบาล


ในที่สุด การประมูลรถเมล์NGV ของ ขสมก. จำนวน 489 คัน ก็ทำท่าจะล้มประมูล ด้วยฝีมือของ “ไอ้โม่ง” บางคน ภายใต้กระบวนการสมรู้ร่วมคิดโดยอ้างถึงอะไรก็ไม่รู้ต่อหน้าต่อตาของรัฐบาล

ที่จริงแล้ว โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลประยุทธ์ ต้องการพิสูจน์ว่าจะคืนความสุขให้ประชาชนหลังการรัฐประหาร คือการเปิดประมูลรถเมล์ NGV ของ ขสมก. 2 ล็อต ล็อตแรก 489 คัน ล็อตหลัง 3 พันคัน

การประมูล ล็อตแรก จัดให้มีการประมูลขึ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ ด้วยระบบอี-อ็อกชั่น โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบรถยนต์ทั้งหมด ภายใน 90 วัน หลังจากการทำสัญญา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ตัวรถยนต์ประจำทาง และอีกส่วนหนึ่งคือสัญญาซ่อมบำรุงระยะเวลา 10 ปี

หากไม่มีอะไรเป็นพิเศษ การประมูลน่าจะราบรื่น และทำให้รัฐบาลคุยอวดได้ว่า นี่คือการประมูลที่โปร่งใส แตกต่างจากรัฐบาลก่อนที่ขี้โกง (ตามที่ชอบอ้าง)

ผลการประมูล ซึ่งมีผู้แข่งขัน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นบริษัทไทย(แท้) และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นบริษัทไทย (เทียม) ที่มีนักเซ็งลี้เชื้อสายจีนอยู่เบื้องหลัง               

กลุ่มแรกเปิดเผยตัวชัดเจนว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC (บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ถือหุ้น 50% และบริษัท ช.ทวีขอนแก่น จำกัด บริษัทย่อยของ CHO ถือหุ้น 50%) โดยมี CHO ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นแกนหลัก

กลุ่มหลังชื่อ เบสท์รินกรุ๊ป ซึ่งไม่มีใครทราบที่มาที่ไป

ผลการประมูล ปรากฏว่า กลุ่มแรกชนะเสนอราคาต่ำสุด ทั้ง 2 ส่วน ซึ่งตามขั้นตอนต่อไปก็ต้องทำตามกติกาที่กำหนดไว้ใน TOR คือ เรียกผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดไปเจรจาต่อรอง

ระหว่างนั้น ก็ปรากฏว่า กลุ่มหลังโวยวายขึ้นมาว่า เหตุใดจึงไม่เรียกฝ่ายของตนไปเจรจาด้วย ไม่โวยวายเปล่า แต่ดำเนินการฟ้องร้อง คณะกรรมการประมูล และคณะกรรมการของ ขสมก. เป็นจำเลย ต่อ 3 หน่วยงาน คือ  ศาลอาญา ศาลปกครอง และ กวพ.อ. (คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)

เนื้อหาของคำกล่าวอ้างของกลุ่มที่แพ้การประมูลดังกล่าว ว่ากันตามลายลักษณ์อักษรคือ กลุ่มของตนที่แพ้เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่โดยพฤตินัยคือ ขัดขวางไม่ให้มีการลงนามในสัญญาเพื่อให้การประมูลบรรลุผล

ผลจากการฟ้องร้องดังกล่าว ทำให้การลงนามเพื่อทำสัญญา และส่งมอบรถของ ขสมก. ล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน โดยตัวแทนของ ขสมก.ก็อ้างโน่นอ้างนี่ เพื่อหาเหตุไม่ยอมลงนาม ทั้งที่รู้ดีว่ายิ่งล่าช้าเท่าใดจะยิ่งเสียเวลา และทำให้ประชาชนเสียโอกาสเพราะ รถเมล์ ขสมก.ที่มีอยู่เดิมคร่ำคร่าเต็มที

ต่อมา ศาลอาญา และศาลปกครอง พิจารณาคำฟ้องของเบสท์รินกรุ๊ปแล้ว ก็มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง เหลืออยู่เพียงแค่ กวพ.อ. ที่ไม่ยอมวินิจฉัยเสียทีว่า การประมูลดังกล่าวถูกต้องหรือบกพร่องอย่างไร

ตามที่ปรากฏเป็นข่าว กวพ.อ. ซึ่งมีสถานที่ทำงานอยู่ที่ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (โทร. 0 2273 9024 ต่อ 4432 ) รับเรื่องอุทธรณ์จากเบสท์รินกรุ๊ป ในวันที่ 13 สิงหาคม โดย อนุกรรมการ กวพ.อ.จะพิจารณาในเบื้องต้นก่อน และคณะกรรมการ กวพ.อ.จะประชุมในวันที่ 26 ส.ค. แต่ มีคำแนะนำมายัง ขสมก.ว่า กรณีมีการร้องเรียนควรชะลอการลงนามออกไปก่อน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีข่าวจาก กวพ.อ. ทั้งที่เคยมีการระบุว่า “กวพ.อ.จะเร่งการพิจารณาให้เร็วที่สุด”

ความเงียบของ กวพ.อ. เป็นที่มาของการ “คอยโกโดต์” ซึ่งเปรียบได้กับการปล่อยให้เวลาล่วงไปไม่มีกำหนดโดยเจตนา

แล้วล่าสุด รมช. คมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ก็ออกมาเรียกร้อง กวพ.อ.ระบุให้ชัดเจนควรจะบอกว่า จะให้ยกเลิก หรือจะให้เดินหน้าก็บอกมา หลังจากก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายออมสิน บอกว่า การประมูลรถ 489 คันล่าช้ามาก ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น ก็จะดำเนินการจัดหาส่วนที่เหลือเกือบ 3 พันคันให้เร็วขึ้น โดยปรับให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้าแทน

ในขณะที่ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ประธาน ขสมก. ล่าสุด ก็อ้อมแอ้มบอกเพียงแค่ว่า ขสมก.ทำดีที่สุดแล้ว แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดของการประมูลแล้ว ราคาก็ไม่ได้แพง นายกรัฐมนตรีก็เร่งตลอด แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว

ความไม่ชัดเจน คือความไม่แน่นอน ซึ่งถือว่าเลวร้ายกว่าความเสี่ยง ซึ่งยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นช้ายาวนาน ยิ่งจะทำให้ความเสียหายยากจะประเมินได้

หากดูจากรูปการณ์ด้วยสามัญสำนึกปกติ ข้อเท็จจริงจากการยกคำฟ้องของศาลอาญา และศาลปกครอง น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ กวพ.อ. พิจารณาได้ว่า คำอุทธรณ์ของเบสท์รินกรุ๊ป มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ได้แล้ว การดึงเรื่องให้ยาวออกไป ทำให้เกิดเป็นปริศนาว่า เจตนาที่แท้ของ กวพ.อ. นั้นเป็นเช่นใด ระหว่างการให้ยกเลิกการประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่ หรือ ว่าจะให้มีข้อยุติว่าการประมูลมีความชอบธรรมเพียงพอเพื่อเดินหน้าทำสัญญากันต่อให้เสร็จกระบวนความ

หากเป็นอย่างแรก แสดงว่า กวพ.อ.เห็นรายละเอียดที่เหนือกว่าการพิจารณาของศาลอาญา และศาลปกครอง ก็จะ เข้าทางของเบสท์รินกรุ๊ป

หากเป็นอย่างหลัง แสดงว่า กวพ.อ. ยอมรับข้อวินิจฉัยของศาลอาญา และศาลปกครอง ก็จะเข้าทางของกลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC

ไม่ว่าทางใด ต้องเลือก ถ้าไม่เลือก จากเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ก็ไม่ควรจะมีการประมูลไปหาสวรรค์วิมานกันต่อไป

Back to top button