พ้นจุดต่ำสุดมาแล้วพลวัต2015

สององค์กรระหว่างประเทศ ถล่มตลาดหุ้นไทยเมื่อบ่ายวานนี้แบบไม่ถนอมน้ำใจกันเสียเลย ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็น 1 ใน 2 ตลาดเอเชียที่มีทิศทางแย่ที่สุดเมื่อวานนี้ ร่วมกับตลาดหุ้นมะนิลา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใดเพราะข้อสรุปของ 2 หน่วยงานนี้อาศัยสถิติเก่ามาเป็นบรรทัดฐาน เข้าข่าย “กับดักของพลาโต้” คือ เอาอดีตมาคาดเดาอนาคต ทั้งที่ความจิรงแล้ว ตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทย ได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว


สององค์กรระหว่างประเทศ ถล่มตลาดหุ้นไทยเมื่อบ่ายวานนี้แบบไม่ถนอมน้ำใจกันเสียเลย ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็น 1 ใน 2 ตลาดเอเชียที่มีทิศทางแย่ที่สุดเมื่อวานนี้ ร่วมกับตลาดหุ้นมะนิลา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใดเพราะข้อสรุปของ 2 หน่วยงานนี้อาศัยสถิติเก่ามาเป็นบรรทัดฐาน เข้าข่าย “กับดักของพลาโต้” คือ เอาอดีตมาคาดเดาอนาคต ทั้งที่ความจิรงแล้ว ตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทย ได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว

พูดอย่างนี้ มิใช่หวังประจบประแจง หรือ ต้องการสร้างกระแสสวนนักวิเคราะห์ เพราะโดยข้อเท็จจริง จะเห็นได้ชัดว่า ทั้งเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทย เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ประโยค ตลาดหุ้นผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เป็นประโยคคุ้นหูที่นักลงทุนได้ยินซ้ำซากจากนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้น หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น จนลดความน่าเชื่อถือไปมากเพราะเป็นคำอธิบายเชิงปลอบประโลมใจในยามสถานการณ์เลวร้าย ที่ไม่ได้มีข้อมูลอะไรรองรับมากนัก

ไม่เพียงแต่ไม่ค่อยเชื่อถือเท่านั้น บางคนเลยเถิดถึงขั้นตั้งคำถาม คนที่พูดประโยคนี้ ซ่อนความหมายอะไรแอบแฝงไว้ หรือมีเบื้องหลังที่ซ่อนความหมายเอาไว้

ยามนี้ มีข้อความสนับสนุนน่าสนใจสำหรับข้อสรุปว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก (ยกเว้นบางประเทศที่พื้นฐานเลวร้ายเกินกำลัง) มีโอกาสจะเทิร์นอะราวด์ รอบใหม่ในเร็ววันนี้ แน่นอน

เรื่องแรกสุด ข้อมูลดัชนี PMI ของจีน เมื่อเช้าวานนี้ ออกมาตอกย้ำข้อสรุปของ WEF ที่ว่า เศรษฐกิจจีนไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่กำลังปรับจากการเติบโตเชิงปริมาณ เป็นการเติบโตเชิงคุณภาพเท่านั้นเอง ซึ่งในระยะยาวจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม โดยดัชนีดังกล่าวที่ร่วงมานานหลายเดือน กำลังเริ่มผงกหัวกลับขึ้นจากขาลงสู่ภาวะเสถียรภาพ รอกลับเป็นขึ้นระลอกใหม่ ซึ่งภาวะเช่นนี้  ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นเรียกว่าสัญญาณบวกกลับจากการดิ่งร่วงลง morningstar convergence

ในขณะที่ นักชี้แนะกลยุทธ์การลงทุนของบาร์เคลย์แบงก์จากอังกฤษ เอาสถิติในรอบ 12 ปี ออกมาฟันธงว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ได้จ่ายต้นทุนมากเกินสมควรจากร่วงลงเกินพื้นฐานในหลายเดือนมานี้ เรื่องนี้  พร้อมเอาสถิติชัดเจน 4 ครั้งซ้อน มาชี้ว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ดิ่งลงมากกว่าตลาดหุ้นหลักในประเทศที่เติบโตเต็มที่แล้ว

เมื่อใดที่ตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ ร่วงหนักกว่าตลาดหุ้นหลักของโลก การเหวี่ยงกลับเป็นขาขึ้นจะกลับแรงกว่าปกติ เหตุผลคือ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลก จะปรับเปลี่ยนมุมมองว่า ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ถูกและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นหลักของโลกเสมอ

ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ซ้ำซาก ล่าสุด นักวิเคราะห์ตลาดระดับโลกที่ปกติมองโลกในแง่ร้ายสุดก็ยังออกมาบอกหลังจากการขายเทกระจาดของนักลงทุนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะในยุโรป และตลาดเกิดใหม่ทั้งโลก พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว

คำถามก็คือ คนที่ได้รับฟังหรือรับทราบประโยคเช่นว่านี้ พึงเชื่อหรือเอาเป็นสรณะมากน้อยแค่ไหน ปัญหาจึงอยู่ที่ปฏิกิริยาของคนรับสาร มากกว่าคนนำสาร หรือ คนสร้างข่าวสาร

โดยสภาพแวดล้อม ตลาดหุ้นที่ยากลำบากปีนี้ทั่วโลก มาจากสาเหตุหลักพื้นฐานคือ ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ข่าวร้ายสำคัญคือ เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลง จากสาเหตุหลายประการพร้อมกัน คือ

– เศรษฐกิจสหรัฐฯยังฟื้นตัวจากวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 7 ปีก่อน ยังมีความเปราะบางที่ต้องระวังหลายจุด

-เศรษฐกิจจีน อินเดีย และชาติกำลังพัฒนาหลายแห่งทั่วโลก(รวมทั้งไทย) เผชิญกับปัญหาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยังก้าวไม่ข้ามวังวนกับดักของชาติรายได้ปานกลาง

-เศรษฐกิจญี่ปุ่น และยูโรโซน ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืด แม้จะใช้มาตรการ QE เต็มที่

-รัสเซียและยุโรปตะวันออกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงจากความขัดแย้งเชิงยุทธศาสตร์กับนาโต้

-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบระดับโลกเข้าสู่วงจรขาลงครั้งใหม่ที่ยาวนาน

หากเป็นกระบวนทัศน์แบบเก่าของปรัชญาเศรษฐกิจทุนนิยมรุ่นคร่ำครึ จะต้องบอกว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นภาวะที่เรียกกันว่า “ห้วงเวลาของการกำจัดวัชพืช” ซึ่งในทางทฤษฎี จะต้องยอมให้เกิดปรากฏการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นคือ “ปล่อยธุรกิจให้ล้ม ปล่อยให้แบงก์ล้ม ปล่อยให้คนงานตกงาน ปล่อยให้หุ้นตก ปล่อยให้เกษตรกรล้มละลาย ปล่อยให้กิจการอสังหาริมทรัพย์ล้มละลาย” ด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ต้องถูกกำจัดนี้ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ใหม่ๆ สมควรถูกขับออกจากระบบ เพราะแข่งขันไม่ได้

แนวคิดนี้ คือคำพูดลือลั่นสนั่นเมืองของ แอนดรูว์ เมลลอน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯแห่งพรรครีพับลิกัน ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ค.ศ. 1929 ที่เชื่อว่าตนเองเข้าถึงธาตุแท้ของปรัชญาทุนนิยมได้ดีกว่าคนอื่นๆ

กระบวนทัศน์แบบ “เหมาเข่ง” ดังกล่าว อาจใช้การไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะมีคนจำนวนมากเชื่อว่ามีเครื่องมือมากมายที่จะสามารถแก้ปัญหา “เฉพาะทาง” หรือ “รักษาโรคตามอาการ”ได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ปรัชญา “เหมาเข่ง” แต่ที่สำคัญ ตลาดหุ้นนั้น ไม่ได้มองเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แต่มองจากมุมว่า ตลาดไหนมีราคาถูกและเหมาะกับการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรมากกว่ากัน

คำกล่าวที่ว่า พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว อาจเป็นได้แค่เพียงคำปลอบใจ หรือแรงกระตุ้นให้ทบทวนมุมมองใหม่ จึงเป็นสิ่งที่พึงพิจารณา เพราะอนาคตของทิศทางตลาดหุ้นนั้น บางครั้งมีลักษณะ ลับ ลวง พราง พอสมควร

คำพูดที่ว่า ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว จึงเป็นได้ทั้งมายาภาพ และจุดเริ่มต้นของการซื้อรอบใหม่ได้ทั้งสิ้น

 

Back to top button