IPO ซิลลิ่ง-ฟลอร์ลูบคมตลาดทุน

ได้ยินกระแสข่าวเรื่องจะมีการปรับเกณฑ์ซิลลิ่ง-ฟลอร์ หุ้นไอพีโอ กันอีกแล้ว


ธนะชัย ณ นคร

 

ได้ยินกระแสข่าวเรื่องจะมีการปรับเกณฑ์ซิลลิ่ง-ฟลอร์ หุ้นไอพีโอ กันอีกแล้ว

เรื่องนี้ หากพอจำกันได้ เคยเป็นปัญหาฝุ่นตลบกันอยู่พักใหญ่เมื่อต้นปี 2556

เรื่องเกิดขึ้นในสมัยคุณจรัมพร โชติกเสถียร เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ(ตลท.)

แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับ ตลท.เขาโดยตรงหรอก เรื่องของเรื่องก็มาจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ที่มีการนำเสนอเข้ามาว่าจะให้ปรับเกณฑ์หุ้นไอพีโอ เรื่องซิลลิ่งและฟลอร์ใหม่

นั่นคือจากเดิมกำหนดไว้ 200% ให้ลงมาเหลือ 100%

แต่ในครั้งนั้น ก็มีกลุ่มโบรกเกอร์ที่ไม่เห็นด้วย และคัดค้านอย่างเต็มที่ ซึ่งในที่สุด เรื่องก็ตกไป

จนนำไปสู่การพาดหัวข่าวว่า “โบรกฯเสียงแตก”

กระทั่งกลับมามีเป็นข่าวอีกนี่แหละ

และการพาดหัวข่าวเรื่อง “โบรกฯเสียงแตก” ก็กลับมาอีกครั้ง (แต่ในความเป็นจริงก็เสียงแตกมาตั้งนานแล้ว)

เหตุผลที่มีการกล่าวอ้างกันมาถึงการปรับเกณฑ์ดังกล่าวเพราะต้องการปกป้องนักลงทุน (รายย่อย) ไม่ให้หลวมตัวเข้าไปเล่นหุ้นไอพีโอเหล่านั้น

สดับรับฟังกันแบบนี้บางคนก็บอก “อย่าโลกสวย”

เพราะรายย่อยสมัยนี้ เก่งและฉลาด จนนำไปสู่คำที่เรียกกันว่า “เม่าปีกเหล็ก” นั่นแหละ

คือไม่ได้มีโอกาสถูกหลอกกันง่ายเหมือนในสมัยไหน ยุคก่อนโน้นๆๆๆ

บางคนมองว่าการแก้ไขเรื่องเกณฑ์ซิลลิ่ง-ฟลอร์ หุ้นไอพีโอ มันเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากจะจัดการจริงๆ ทาง ตลท.เขาก็มีมาตรการควบคุมสกัดหุ้นร้อนที่ใช้กันอยู่แล้ว

เห็นหลายคนรวมทั้งผู้บริหารของ ตลท.ก็ออกมาบอกว่า ได้ผลดีน่ะ

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการใช้เกณฑ์ซิลลิ่ง-ฟลอร์ 200% กับหุ้นไอพีโอนั้น ก็ไม่ได้มีการกำหนดมาก่อน

กระทั่งมากำหนดกันภายหลัง และใช้กันมาในหลายปี

หากย้อนกลับไปดูหุ้นไอพีโอเข้ามาใหม่ในปี 2557 ก็จะพบว่า มีเข้ามาทั้งหมด 45 ตัว

ในจำนวนนี้มีหุ้นไอพีโอที่ขึ้นไปซิลลิ่ง หรือแตะ 200% จากราคาไอพีโออยู่ 4 ตัวคือ RWI–SPA–LDC และ NCL ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่ามากนักหากเทียบเป็นจำนวนตัวหุ้น

ส่วนในปี 2558 มีไอพีโอเข้ามาแล้ว 24 ตัว

แต่มีหุ้นที่พุ่งชนซิลลิ่ง 200% เพียง 2 ตัว คือ S11 และ DAII

นี่ก็ไม่ได้ถือว่ามากเช่นกัน

หุ้นอย่าง DAII ที่ขึ้นมาชนซิลลิ่งในวันแรก และยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ซึ่งในที่สุดก็ถูก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย หรือให้เป็นหุ้นที่เข้าข่ายถูกแคชบาลานซ์

และผ่านมาถึงวันนี้ก็มอบตัวแล้ว ราคาเฉลี่ยอยู่แถว 5 บาทกว่าๆ จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 12.70 บาท

แน่นอนว่าอาจมีคนเข้าไปติดอยู่ที่ราคานี้บ้าง

แต่ก็ไม่น่าจะเยอะมากนัก

อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่าหุ้นไอพีโอส่วนใหญ่จะมี “ส่วนลด” หรือ Discount ให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว

และส่วนมากก็ไม่ได้ใช้ส่วนลดอะไรมาก อาจซัก 15-30% แล้วแต่จะออกแบบกันมาเพื่อให้วันแรกที่เข้าเทรดนั้น นักลงทุนมีช่องในการเข้าเล่นได้บ้าง

ส่วนหุ้นตัวที่ขึ้นมามากกว่าส่วนลด หรือพุ่งเป็นหลัก 100% แน่นอนล่ะมีเจ้ามือคอยทำราคาอยู่

หรือคล้ายเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องแบบไม่เป็นทางการ

ยิ่งราคาไม่กี่บาท และหุ้นที่มาขายไอพีโอมีเพียงหลักร้อยกว่าหุ้น หรือไม่ถึงร้อยหุ้น ยิ่งลากง่าย เพราะไม่หนักมาก

แต่เรื่องนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่ามาตรการของตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีอยู่ ถือว่าเพียงพอ ในการสกัดหุ้นร้อน ไม่จำเป็นต้องออกมาเพิ่ม และจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

ส่วนฝ่ายที่ยกมือสนับสนุนก็จะบอกว่า “ฉันปกป้องรายย่อย”

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว คนในวงการตลาดทุนต่างทราบปัญหากันดีว่า ในวงการโบรกฯ แบ่งออกกันเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกส่วนใหญ่เป็นโบรกฯขนาดใหญ่

ส่วนอีกกลุ่มก็เป็นโบรกฯกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก

ทั้งสองกลุ่มมีความเห็นไม่ค่อยจะตรงกันในหลายๆ เรื่อง หรือแทบจะทุกเรื่อง รวมถึงการสรรหาคณะกรรมการในสมาคมบริษัทหลักทรัพย์

บางคนบอกว่า กลุ่มคนที่เสนอให้ปรับเกณฑ์นี้ ก็เพราะอิจฉาตาร้อนกับโบรกฯที่มีงานไอพีโอในหุ้นขนาดเล็กเข้ามา

คล้ายๆ กับว่าเป็นการสกัดกั้นอะไรนั่นแหละ

ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน

จริงๆ แล้ววานนี้ผมก็พยายามติดต่อคุณภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพราะอยากทราบความเห็นจากทุกฝ่ายด้วยตัวเอง รวมถึงสมาคมโบรกฯ แต่ก็ติดต่อไม่ได้

นี่เป็นประเด็นร้อนๆ ที่ยังต้องติดตามกัน

 

 

 

 

 

 

 

Back to top button