กระเช้าลอยฟ้าสู่ยอดดอยอันหนาวเหน็บ

อย่างไรเสีย เราคงต้องรอให้เกิดความต้องการในการใช้น้ำมันจากทั่วโลกให้มีเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก ราคาน้ำมันจึงจะสามารถปรับฐานขึ้นสู่ระดับต่อไปได้อย่างแท้จริง


–ตามกระแสโลก–

 

สัปดาห์นี้ใน “ตามกระแสโลก” คงขอเน้นไปที่เรื่องราวของราคาน้ำมันดิบที่ไม่ได้พูดถึงมาซักพักใหญ่ๆ ก่อนเป็นอันดับแรก

โดยราคาของทั้งเวสเท็กซัส และ เบรนท์ ต่างปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี ที่ทำไว้เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ซึ่งราคาปิดของวันนั้น ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ที่ระดับ 38.05 และ 42.69 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

แต่ก็อย่างที่บอก เพราะนับแต่นั้นมาราคาก็สามารถเด้งกลับขึ้นมายืนที่ระดับ 48.14 และ 54.15 ดอลลาร์ ได้ภายใน 1 สัปดาห์

ขณะที่ในช่วงแรกของการปรับตัวขึ้นนั้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากแรงเก็งกำไรในสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า

เนื่องจากพวกเฮดจ์ฟันด์ต่างเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะทำกำไรก้อนงาม ซึ่งสามารถเห็นได้จากการปรับตัวขึ้น-ลงของราคาที่ดูหวือหวาเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของราคาที่ดูรุนแรง ดูเหมือนจะเริ่มสะเด็ดน้ำมากขึ้น หลังย่างเข้าสู่ช่วงเดือนกันยายน

แต่ก็ถือว่ายังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยที่ปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำมันนั้น เริ่มกลับมามีส่วนในการดันราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (แม้จะแค่ในระยะสั้นๆ)

หากดูกันในแง่ของอุปสงค์ ถือว่าไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นซักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นไปตามสภาพของเศรษฐกิจโลกเช่นในปัจจุบัน

ขณะที่ปัจจัยที่มีส่วนช่วยดันราคาน้ำมันขึ้นมาครานี้ ก็คือตัวของอุปทานที่มีปริมาณลดลงมาระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 เดือนก่อน    

ซึ่งการลดลงของอุปทาน เป็นผลสำคัญจากการที่สหรัฐฯยอมปรับลดตัวเลขการผลิตเชลออยล์ ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ราว 9.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรล หรืออาจต่ำกว่าเล็กน้อย

ประกอบกับ พี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปคอย่าง ซาอุดิอาระเบีย ดูเหมือนจะเริ่มมีทีท่าที่อ่อนลง และแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะเจรจาต่อประเด็นเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต กับผู้ผลิตรายอื่นทั้งนอกกลุ่มและในกลุ่ม

ส่วนอนาคตของราคาน้ำมัน น่าจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปอีกนานพอสมควร

เพราะอย่างไรเสีย เราคงต้องรอให้เกิดความต้องการในการใช้น้ำมันจากทั่วโลกให้มีเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก ราคาน้ำมันจึงจะสามารถปรับฐานขึ้นสู่ระดับต่อไปได้อย่างแท้จริง

 

ทีนี้ ถ้าดูในส่วนของหุ้นน้ำมันบ้านเราอย่างตัวของ PTT และ “พี่เทพ” PTTEP จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันทั้ง 2 ตัวเป็นปกติอยู่แล้ว

โดยหากนับตั้งแต่วันที่น้ำมันลงมาปิดต่ำสุดจนถึงวันนี้ เวสเท็กซัส ปรับตัวขึ้นมากว่า 33% ส่วน เบรนท์ ก็ปรับขึ้นกว่า 26%

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้น PTT ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอีกประมาณ 14% และ PTTEP ก็ขึ้นมาราว 11%  

ซึ่งตรงนี้ เป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่างการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและราคาหุ้น แค่อาจจะต่างกันที่อัตราการเติบโตหรือหดตัวเท่านั้นเอง

สำหรับอีกหนึ่งประเด็นที่จะขอพูดถึงอีกเล็กน้อยในสัปดาห์นี้คือ เรื่องการไหลเข้ามาของฟันด์โฟลว์จากต่างประเทศ ที่หลายคนสงสัยว่า มันกำลังกลับมาแล้วใช่ไหม??

อยากจะบอกว่า มันคงไหลกลับเข้ามาแค่ในช่วงสั้นๆเท่านั้นเองแหละ และก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรซักเท่าไหร่เลย เพียงแต่มันก็ถือว่ามีส่วนช่วยให้ตลาดหุ้นบ้านเราได้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาบ้าง

ซึ่งเม็ดเงินต่างชาติที่แวะเวียนมาเยี่ยมตลาดทุนไทยครั้งนี้ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลดลงจากความไม่ชัดเจนของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อใดที่ แจเนต เยลเลน เริ่มพะงาบปากพ่นน้ำลายออกมาอีกครั้ง ตลาดทุนไทยก็จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

สัปดาห์หน้า ต้องติดตามเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างใกล้ชิด เพราะดัชนีวันศุกร์ที่ปิดบวกขึ้นมา 19.18 จุด อาจเป็นแค่การสับขาหลอกเท่านั้น

อีกอย่างคือ เราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า เม็ดเงินนั้นเวลาจะมาก็มาจะไปก็ไป มันไม่เคยคิดจะบอกอะไรเราแต่เนิ่นๆซักที

ทุกครั้งที่ผ่านมาพอเริ่มรู้สึกตัวเท่านั้นแหละ มันรู้สึกทั้งหนาว ทั้งเดียวดาย หายใจก็ไม่ถนัด เพราะดันขึ้นไปติดอยู่บนดอยสูง

ดังนั้น วันนี้เราต้องเป็นนักลงทุนที่พัฒนาแล้ว เราต้องไม่หลงกลให้เรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว กับ เรื่องฟันด์โฟลว์ที่มาเร็วไปเร็ว มาหลอกพาเราขึ้นกระเช้าไปทัวร์ยอดดอยอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

จะบอกให้ว่า สหรัฐฯลดกำลังการผลิตได้ไม่นานหรอกเพราะกลัวขาดสภาพคล่อง ส่วนซาอุฯก็ทำทีเป็นอ่อนข้อไปอย่างนั้นแหละเพราะต้นทุนตัวเองนั้นถูกแสนถูก และไม่ว่าจะอย่างไรเสีย เฟดก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่วันยังค่ำ

Back to top button