SSI และ ENRONพลวัต2015

ไม่รู้เพราะยึดถือหลักปรัชญา Too Good to Be Failed ตามรอยนักการเงินตะวันตกหรืออย่างไร ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทเหล็กอย่าง สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ที่เพิ่งประกาศปลดพนักงานอย่างเป็นทางการ 1,700 คนของโรงงาน SSI UK ที่เป็นบริษัทลูกในอังกฤษ หลังจากยอมรับเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพราะส่วนผู้ถือหุ้นติดลบต่อศาลล้มละลายกลางไปไม่นาน พากันโอบอุ้มกันอย่างสุดฤทธิ์


ไม่รู้เพราะยึดถือหลักปรัชญา Too Good to Be Failed  ตามรอยนักการเงินตะวันตกหรืออย่างไร ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทเหล็กอย่าง สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ที่เพิ่งประกาศปลดพนักงานอย่างเป็นทางการ 1,700 คนของโรงงาน SSI UK ที่เป็นบริษัทลูกในอังกฤษ หลังจากยอมรับเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพราะส่วนผู้ถือหุ้นติดลบต่อศาลล้มละลายกลางไปไม่นาน พากันโอบอุ้มกันอย่างสุดฤทธิ์

สุดฤทธิ์ถึงขั้น ยังไม่ทันจะไปสู่กระบวนการศาลเลย ก็ประกาศยินยอมให้ลูกนี้อย่าง SSI ในไทย เป็นผู้บริหารแผนเสียเอง แทนที่จะหาคนกลาง หรือตัวแทนของเจ้าหนี้มาบริหารแผน (ที่ทำให้หลายคนสะท้อนถึงกิจการอื่นที่มีเรื่องราวเจ้าหนี้ จะคิดยึดกิจการจากลูกหนี้ที่มีปัญหา) โดยเฉพาะกรณีอื้อฉาวอย่าง TPI ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์และพี่น้อง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนโด่งดังทั่วประเทศ

โดยข้อเท็จจริง ศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ SSI แล้วเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.23/58 และกำหนดนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว ในวันที่ 21 ธันวาคม หรืออีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า สำหรับการแก้ปัญหาหนี้สินคงค้างของ SSI ที่มีต่อเจ้าหนี้ 3 ธนาคารเท่ากับ 48,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารละ 22,000 ล้านบาท และธนาคารทิสโก้ 4,000 ล้านบาท

 ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหนี้ทั้ง 3 ยังมอบหมายให้ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด  ออกมาเปิดทางว่า พร้อมจะทำการช่วยลดหนี้ให้ลูกหนี้รายนี้ ในลักษณะการแฮร์คัทหนี้แบบกรณีพิเศษ เป็นการลดหนี้แบบมีการผสมผสานแผนการจัดการหนี้อื่นรวมเข้ามาด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางว่ารูปแบบใดเหมาะสมที่สุด

พร้อมกันนั้น ยังยืนยันประหนึ่งนักบุญอีกว่า กรณี SSI ถือเป็นเหตุสุดวิสัยเหนือการคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น แต่มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงต่อไป

แรงหนุนส่งให้ SSI ก้าวข้ามความยากลำบากไปได้สะดวกโยธินในทางอ้อม ยังมีต่อไป ล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับ ออกมาระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ของ SSI มีมูลค่าหนี้สูงที่สุดตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ส่งผลให้สินเชื่อ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความเสี่ยงจากสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่อ่อนแอ แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือได้ และ “อาจจะยังไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คุณภาพสินทรัพย์อาจปรับตัวแย่ลงในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า”

เรียกว่าเจ้าหนี้และคนรอบข้าง พากันยินยอมทั้งทางตรงและอ้อม ทอดตนเหนือแม่น้ำอันเชี่ยวกราก เพื่อให้ SSI ฝ่าข้ามปัญหาหนี้ไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้ ไม่ว่าต้นทุนจะเท่าใด ทำให้คิดถึงเพลงดังของ ไซมอนและการ์ฟังเกล Bridge over Troubled Water ในอดีตกันเลยทีเดียว

สถานการณ์ของ SSI หลังจากส่วนผู้ถือหุ้นติดลบไปแล้ว แม้จะมีคนพยายาม “ทาสีใหม่” เพื่อให้ดูมีอนาคตสดใสอีกครั้ง ถือเป็นปรากฏการณ์ “เต่าใหญ่ไข่กลบ” เพื่ออำพรางอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ มาตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อเมื่อต้นปี 2554 ตอนที่จะซื้อโรงงานเหล็กคร่ำคร่า โดยมีราคาแพงเกินจริง โดยมีค่าความนิยมมากกว่า 5,200 ล้านบาท (ทั้งที่เจ๊งเปลี่ยนมือเจ้าของมาแล้วมากกว่า 17 รายในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา)

ปฏิบัติการ “เต่าใหญ่ไข่กลบ” ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณี อื้อฉาวระดับโลก โดยบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน ร่วมกับผู้บริหารของกลุ่ม Enron ธุรกิจค้าและสำรวจพลังงานรายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐฯ มีมูลค่าทรัพย์สินเกือบ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลักของพรรครีพับลิกัน มีเครือข่ายทั่วโลก และราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์กพุ่งทะยานโดดเด่น โดยระหว่าง ค.ศ. 1995-2001 ช่วยกัน แต่งบัญชี  ปกปิดฐานะการเงินแท้จริง ซ่อนหนี้สินหลายพันล้านดอลลาร์ไม่ให้ปรากฏในงบ และแสดงรายได้เกินจริง เกือบ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปี จนกระทั่ง บริษัทจัดอันดับธุรกิจทั้ง S&P และ Moody’s หลงทางให้เครดิตสูงสุดตลอด เป็นบริษัทอันดับ 1 ใน 10 ของการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune ต่อเนื่อง และนักลงทุนสถาบันถือเป็นกิจการเลอเลิศ  จนวันหนึ่งก็ประกาศล้มละลายแบบเฉียบพลันเพราะขาดสภาพคล่อง และ ผิดนัดชำระหนี้

 หลังจาก การตรวจรื้องบการเงินใหม่ ก็พบว่า ตัวเลขสินทรัพย์ที่บันทึกในงบการเงิน 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแท้จริงเหลือเพียงแค่ 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลตามมาคือ ราคาหุ้น Enron ที่เคยสูงถึง  85 ดอลลาร์สหรัฐ ร่วงต่อเนื่องไปเหลือเพียง 26 เซนต์ ก่อนยุติการซื้อขาย และเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

ผลพวงที่เกิดขึ้น ทำให้อาร์เธอร์ แอนเดอร์สัน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งใน Big 5 ของผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก ล่มสลายไป เหลือไว้แต่เพียง Big 4 ในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคือ ผู้สอบบัญชีของ SSI ในหลายปีมานี้ สังกัดในสำนักงานสอบบัญชี KPMG หนึ่งใน Big 4 ระดับโลกด้วย แต่ผู้สอบบัญชีของ SSI เพื่อส่งสัญญาณทางลบถึงความผิดปกติของผลประกอบการที่ขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ นับแต่การเข้าซื้อกิจการโรงงานเหล็กในอังกฤษ ที่มีขนาดใหญ่กว่าบริษัทแม่หลายเท่าในประเทศไทย 

ส่วนหนึ่งของความผิดปกตินั้น น่าจะรวมถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของเครือข่ายธุรกิจที่ถูกบันทึกในงบการเงินของบริษัทในส่วนของ “ลูกหนี้อื่น” (ที่ส่วนใหญ่เป็นเงินจ่ายล่วงหน้า หรือรายการอื่นนอกเหนือการค้าปกติ) ที่ล่าสุดมีตัวเลขสูงถึง 5,040 ล้านบาท ที่ประกอบด้วยลูกหนี้ชื่อ SSI UK 4,443 ล้านบาท Vanomet 309 ล้านบาท Plate Mill อีก 258 ล้านบาท  West Coast Engineering  24.6 ล้านบาท และ B.S. Metal อีก 5.6 ล้านบาท

ลูกหนี้ข้างต้น ยังไม่รวมลูกหนี้การค้าปกติที่เป็นลูกหนี้ในเครือข่ายวิริยประไพกิจ ซึ่งระบุว่าเป็น ลูกหนี้การค้า-กิจการที่เกี่ยวข้องกัน อีก 3,964 ล้านบาท ประกอบด้วย สหวิริยาพาณิชย์ 2,009 ล้านบาท B.S. Metal 1,846 ล้านบาท  และ Plate Mill 108 ล้านบาท

คำถามเรื่องคุณภาพของผู้ตรวจสอบงบการเงินของ SSI น่าจะกินความไปถึงจุดนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ให้ผู้บริหารของ ก.ล.ต. ออกมารับรองความชอบธรรมอย่างร้อนรน แบบที่นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล กระทำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างผิดสังเกต

หากตรวจสอบให้รอบคอบ ไม่มีนอกมีใน  เผลอๆ อาจจะได้เห็น กรณี SSI กลายเป็น Enron ภาค 2  และ อาร์ธอร์ แอนเดอร์สัน ภาค 2 ได้ง่ายๆ

Back to top button