PSTC ผ่านคุณสมบัติโครงการไฟฟ้าโซล่าร์ราชการ 3 โครงการรวม 15 MW

PSTC ผ่านคุณสมบัติโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ 3 โครงการรวม 15 MW ประกาศลงทุนครั้งใหญ่เข้าซื้อกิจการจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกและลงทุนภายใต้บริษัทย่อย รวมประมาณ 13 MW หวังก้าวสู่ผู้นำบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศอย่างครบวงจร


นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์แล้ว 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 15 MW และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาเพิ่มเติมอีก 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์

โดยบริษัทพร้อมเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อให้ทันต่อกำหนดการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ (SCOD) ภายในเดือนกันยายน 2559 ตามที่ภาครัฐกำหนด

ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 13 MW แบ่งเป็น การเข้าลงทุนซื้อหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดในบริษัท อรัญ เพาเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 4 MW ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งโครงการไม่เกิน 405 ล้านบาท ขณะเดียวกัน อรัญเพาเวอร์ ยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. อีก 4 MW ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างเพิ่ม โดยมีกำหนดวัน SCOD ในวันที่ 30 กันยายน 2560

นอกจากนี้ บริษัทยังจะเข้าซื้อหุ้นที่ออกและจำหน่ายทั้งหมดในบริษัท เศรษฐีสุพรรณ ไบโอกรีน เพาเวอร์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย กำลังการผลิต 2 MW ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีและได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าลงทุนรวมในโครงการนี้ไม่เกิน 197 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทยังลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลผ่านบริษัท ไบโอโกกรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกหลายโครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุโขทัยและอุดรธานี โดยแต่ละโครงการมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 990 กิโลวัตต์ รวมทั้ง 3 โครงการมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2.97 MW ซึ่งใช้เงินลงทุนโครงการละ 120 ล้านบาท หรือรวมเงินลงทุนประมาณ 360 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก กฟภ. เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนดังกล่าว ซึ่งทางที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ความเห็นควรให้อนุมัติการลงทุนโครงการทั้งหมด คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2558 ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 23 ธันวาคม 2558 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาอนุมัติแผนการลงทุน และแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 492,597,533.30 บาท จากเดิม 224,567,750 บาท

โดยออกหุ้นสามัญจำนวน 2,680,297,833 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท รวมเป็นเงิน 268,029,783.30 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 2,211,419,375 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ  0.10 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) ในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.40 บาท ส่วนที่เหลือจะรองรับการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ PSTC-W1 จำนวนไม่เกิน 442,283,875 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ให้กับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอัตรา 5 หุ้นสามัญ ต่อ 1 หน่วยใบแสดงสำคัญสิทธิ ในราคา 0.50 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าจะได้รับเงินทั้งสิ้น 1,106 ล้านบาท รองรับแผนขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

อย่างไรก็ดี จากแผนการลงทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2559 บริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกทั้งหมด 13 MW  และในปี 2560 บริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวภาพและชีวมวลเพิ่มอีก 11 MW ทำให้รวมแล้วบริษัทจะรับรู้รายได้จาการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกทั้งสิ้น 24 MW ซึ่งยังไม่รวมถึงโครงการที่บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและขยะ หรือจะเป็นโครงการโซล่าร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับงานมาอีกจำนวนหนึ่ง

“เรามีแผนลงทุนขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกอีกหลายโครงการ จึงจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เพื่อระดมเงินลงทุนรองรับการขยายตัวทางธุรกิจซึ่งจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของ PSTC ให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต” นายพระนาย กล่าว

Back to top button