เมื่อไหร่ประมูลวิทยุทายท้าวิชามาร

พลันที่ผลประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ได้เงินเข้ารัฐถึง 151,952 ล้านบาท ก็มีหลายคนประโคมว่า เห็นไหม การประมูลภายใต้ กสทช.เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เหมือนยุคสัมปทานฉ้อฉล


ใบตองแห้ง

 

พลันที่ผลประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ได้เงินเข้ารัฐถึง 151,952 ล้านบาท ก็มีหลายคนประโคมว่า เห็นไหม การประมูลภายใต้ กสทช.เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เหมือนยุคสัมปทานฉ้อฉล

คำพูดฉาบฉวยนี้น่าจะมุ่งไปที่ “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ผู้ร่ำรวยจากสัมปทานมือถือจน “ซื้อประเทศได้” พูดไม่ผิดหรอก ทักษิณร่ำรวยจากสัมปทานผูกขาด ซึ่งยุคนั้นสมัยนั้นคงวิ่งเต้นล็อบบี้แบบที่รู้กัน แต่ในประเทศนี้ เศรษฐีรายไหนบ้างไม่เคยวิ่งเต้นสัญญาสัมปทาน อย่ามาทำหน้าซื่อตาใสให้หัวเราะฟันหัก

ประเด็นที่ควรย้อนมองคือทำไมต้องมีสัมปทาน ก็เพราะรัฐไทยในอดีตคิดแต่เรื่องความมั่นคง เอกชนเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ไม่ได้ วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม ต้องอยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ทีวีในอดีตจึงมีแค่ 3, 5, 7, 9, 11 ซึ่งเอาเข้าจริงหน่วยงานรัฐก็ขายสัมปทาน ขายเวลา ขายรายการ แบบมีบนโต๊ะใต้โต๊ะ ยักย้ายผลประโยชน์นับพันนับหมื่นล้าน ขนาดผู้อำนวยการ อสมท.ยังโดนจ้างฆ่าเพราะเหยียบตาปลาเจ้าแม่วิทยุภูธร

จำกันได้ไหมว่า ไอทีวีของทักษิณต้องจ่ายค่าสัมปทานปีละพันล้าน ขณะที่กองทัพบกต่อสัมปทานช่อง 7 เพียงปีละ 230 ล้าน พออนุญาโตตุลาการแก้สัญญาลงมาจ่ายเท่ากัน ประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายก็เป็นเดือดเป็นแค้นว่าทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ เสีย “ค่าโง่” สุดท้าย ศาลปกครองสั่งล้มคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าปรับ 76,000 ล้าน กระทั่งรัฐบาลยึดไอทีวีไปทำไทยพีบีเอส

คลื่นมือถือก็เหมือนกัน รัฐให้คลื่น ทศท.กสท.เท่านั้น แล้วรัฐวิสาหกิจทั้งสองก็ไปให้สัมปทานเอกชนสร้างโครงข่ายแล้วโอนกลับมาให้ตัวเองนอนกินตามระบบแบ่งปันรายได้ เริ่มจาก AIS รายแรกในปี 2533 ตามด้วย DTAC และ TRUE กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ให้ตั้ง กสทช.เปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต รัฐบาลเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทศท.กสท.กลายเป็น TOT และ CAT หมดสัมปทานก็ต้องแข่งขันกับเอกชน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่า TOT จะมีปัญญาหารายได้จากไหน เพราะเมื่อปี 57 ได้ส่วนแบ่ง 22,000 ล้านบาท ถ้าไม่นับค่าสัมปทานก็ขาดทุนทันที 20,000 ล้านบาท

แน่ละ ตลอดยุค “สัมปทานฉ้อฉล” อำนาจการเมืองมีผลมากต่อการให้สัมปทาน การต่ออายุ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา รวมถึงความพยายามเตะถ่วงไม่ให้เกิด กสทช. แต่ก็ต้องมอง 2 ด้านว่าไม่ใช่แค่ “ทุนการเมือง” รัฐวิสาหกิจและแนวคิดชาตินิยมความมั่นคงก็ขัดขวางการแปรรูป ขัดขวางการประมูลเช่นกัน

ยกตัวอย่างการประมูล 3G เมื่อปี 2553 ซึ่งถูกระงับอย่างน่าเสียดายเมื่อ กสท.ฟ้องศาลปกครอง โดยอ้างตนเป็นผู้เสียหาย แต่ผลที่เกิดคือประชาชนเสียหาย รัฐสูญเสียรายได้ ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะหลังฟ้องชนะ กสท.ก็ไปทำสัญญา 3G กับ TRUE

ยุคสมัย กสทช.เองก็พูดไม่ได้เต็มปากหรอกนะว่า เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม แม้เมื่อเปิดประมูลจะเป็นเช่นนั้น แต่การประมูลยืดเวลาช้าเร็ว หรือปล่อยให้ “ซิบดับจับชาวบ้านเป็นตัวประกัน” ก็ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

กระนั้นก็ดี เมื่อเราเห็นว่าควรหมดยุค “สัมปทานฉ้อฉล” ประมูล 4G ประมูลทีวีดิจิตอล ได้เงินเข้ารัฐมหาศาล ก็น่าจะมองต่อไปถึงการประมูลคลื่นวิทยุ ที่ปัจจุบันนี้หน่วยงานรัฐยังผูกขาดโดยอ้างความมั่นคง แต่ความจริงก็รู้กัน คือปล่อยให้เช่าเวลาทำรายการบันเทิงมีผลประโยชน์มหาศาล แต่ผลประโยชน์เข้ารัฐต่างกันลิบลับ

กสทช.รีบๆ หน่อยสิครับ รีบทำให้คลื่นวิทยุเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม

Back to top button