พระเอกหุ้นสื่อสาร (4G)

อนาคตต่อจากนี้ของหุ้นสื่อสาร (4G) จะเป็นเช่นไรต่อไป คงเป็นคำถามที่หลายคนกำลังเฝ้ารอคำตอบ


–ตามกระแสโลก–

 

อนาคตต่อจากนี้ของหุ้นสื่อสาร (4G) จะเป็นเช่นไรต่อไป คงเป็นคำถามที่หลายคนกำลังเฝ้ารอคำตอบ

โดยเฉพาะเมื่อผลการประมูล 4G ที่ออกมา ถือเป็นการสร้างความแปลกใจระคนวิตกกังวลแก่ผู้คนอยู่มิใช่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ถือหุ้นเอง หรือ ผู้ใช้บริการเองก็ดี ต่างก็รู้สึกหวาดผวาไปตามๆกัน

โดยบ้างก็ว่า ค่าใบอนุญาตแพงเกินไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุนต่อ ทำแบบนี้กำไรก็หายหมด หรือดีไม่ดีก็กลายเป็นขาดทุน

ส่วนผู้ใช้บริการของค่ายที่ต้องอกหักจากการประมูล ก็เกิดความวิตกกังวลว่า จะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ซิมดับหรือไม่

ซึ่งข้อวิตกทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถือเป็นบรรยากาศที่ไม่ดีเอาเสียเลยสำหรับหุ้น 4G ทั้งหลาย

มิหนำซ้ำ นักวิเคราะห์ทั้งจากสำนักไทยและเทศเกือบ 100% ต่างมองว่า การได้มาซึ่งใบอนุญาต 4G ถือเป็นประเด็นลบ อย่างไม่น่าให้อภัย

แล้วแบบนี้ จะไม่ให้หุ้นสื่อสารกลายเป็นหุ้นสุสานกันได้อย่างไรเล่า!!

เอาเถอะครับ วันนี้เราคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ใครได้ใบอนุญาตคลื่นใดและขนาดเท่าไหร่กันบ้าง

แต่ผู้ชนะรายที่น่าสนใจที่สุดวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ “แจส โมบาย บรอดแบนด์” บริษัทลูกของ JAS

ซึ่งแน่นอน คงมีคนแค่เพียงจำนวนน้อยเท่านั้น ที่มองเรื่องชัยชนะของ JAS เป็นประเด็นบวก

ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังมองว่าความหายนะกำลังย่างกรายมาเยือนบริษัทสื่อสารเก่าแก่แห่งนี้แล้วเป็นแน่แท้

ทีนี้ถ้าเรามาดูกันตามข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อใดที่ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ว่าจะเป็น JAS หรือ TRUE ชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกเสร็จสิ้น

5 ล้านเลขหมายของ ADVANC ในระบบ 2G เดิม จะพบกับปรากฏการณ์ซิมดับแบบทันทีทันใด ไม่มีทางหลีกเหลี่ยงได้

ซึ่งใน 5 ล้านเลขหมายนี้ มีประมาณ 3 ล้านเลขหมายที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง หรือพูดง่ายๆคือ เบอร์ที่มีการแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา

แบบนี้มันชวนให้คิดเหลือเกินว่า ADVANC จะแก้ปัญหาเช่นไร หรือต้องจำใจยอมให้ลูกค้าตัวเองโอนเลขหมายไปยังเจ้าอื่นไหม?? แล้วเจ้าที่ว่านั่น จะใช่ JAS หรือเปล่า??

ถ้าถามว่า ไม่มีวิธีอื่นแล้วเหรอที่นอกเหนือไปจากนี้?? คำตอบคือ มี หากแต่เกรงว่า มันจะไม่คุ้ม หรืออาจจะไม่ทันเวลาเอานะซี

เพราะหนึ่งในสองวิธีที่ ADVANC จะแก้ปัญหานี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัย JAS หรือ TRUE คือ ต้องถ่ายโอนลูกค้าในระบบ 2G มาอยู่ในระบบ 3G

ซึ่งก็คงสามารถทำได้ เพียงแต่เมื่อไหร่ที่ดำเนินการโอนเข้ามา มันมีโอกาสสูงเหลือเกินที่ลูกค้า ADVANC จะตัดสินใจย้ายเบอร์ไปอยู่กับค่ายอื่น

เนื่องจากจำนวนเมกะเฮิรตซ์สำหรับใช้ในระบบ 3G ที่มีอยู่ในมือ ไม่มีทางที่จะรองรับลูกค้าทั้ง 37 ล้านเลขหมาย เพื่อให้ได้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

แล้วกว่าที่จะให้บริการ 4G ได้เต็มรูปแบบ ก็ยังต้องรอไปถึงปีหน้า ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะมีลูกค้ากี่คนที่ยอมทนใช้ต่อไปในสภาพสัญญาณขาดๆหายๆ

ส่วนวิธีที่สองคือ ต้องถ่ายโอนการให้บริการในระบบ 2G ไปอยู่ในคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ของทีโอที

ซึ่งก็ไม่มีทางจะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติอีกหลายขั้นตอน ตั้งแต่บอร์ดทีโอที ไปกระทรวงไอซีที แล้วไหนจะต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. อีก

เรียกว่าโอกาส นั้นเป็นศูนย์ สำหรับวิธีนี้…

ประเด็นเหล่านี้ คงตอบคำถามได้อย่างดีที่สุดว่าทำไม ADVANC ถึงจะต้องยอมสละลูกค้าบางส่วนไป ในท้ายที่สุด

ก็เพราะว่ามันจำเป็นนะซี…

ส่วนการที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า JAS จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากประเด็นปัญหาตรงนี้มากที่สุดหรือไม่

มันน่าสนใจตรงที่ JAS และ ADVANC จริงๆก็เป็นคู่ค้ากันมานานแล้วทีเดียว

ซึ่งหากต้องเกิดการตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางธุรกิจขึ้นมา JAS ดูจะมีองค์ประกอบที่ครบสมบูรณ์แบบมากกว่า TRUE

แล้วอีกอย่างคือ ด้วยความที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจนี้ JAS ย่อมต้องงัดเอาโปรโมชั่นด้านการตลาดที่ร้อนแรงและดุเดือดออกมาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้าอย่างแน่นอน

เอาละครับ ยังไงเราคงต้องติดตามดูกันต่อไปเรื่อยๆ เพราะหนังเรื่องนี้จะยังไม่จบง่าย และก็คงไม่มีวันจบ หากแต่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตามความชาญฉลาดของผู้บริหารแต่ละค่าย

แต่อย่างไรก็ดี ถ้าดูตามเนื้อผ้า ณ ตอนนี้ JAS ถือเป็นดาวดวงใหม่สำหรับวงการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ ที่น่าสนใจต้องติดตามดูผลงานเป็นอย่างยิ่ง

งานนี้จะให้ผู้คนเรียกว่า พระเอกหุ้นสื่อสาร (4G) ได้หรือไม่?? พิชญ์ โพธารามิก ต้องแสดงฝีมือซะหน่อย    

Back to top button