พาราสาวะถีอรชุน

เล่นกับของร้อน ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเรื่องบัตรทองหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล จึงคิดหาหนทางที่จะให้ประชาชนเข้าร่วมนโยบายประชารัฐด้วยการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ถามว่ากระแสตอบรับกับคัดค้านอย่างไหนดังกว่ากัน เข้าไปติดตามในโลกโซเชียลมีเดียได้


เล่นกับของร้อน ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเรื่องบัตรทองหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล จึงคิดหาหนทางที่จะให้ประชาชนเข้าร่วมนโยบายประชารัฐด้วยการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ถามว่ากระแสตอบรับกับคัดค้านอย่างไหนดังกว่ากัน เข้าไปติดตามในโลกโซเชียลมีเดียได้

ร้อนขนาดไหนก็ขนาด สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลต้องรีบออกมาแก้ต่างว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีแนวคิดที่จะยกเลิกโครงการดังกล่าวมีแต่จะทำให้ดีขึ้น พร้อมซัดกลับไปยังอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวหาเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ครั้งนี้ยังจะมาเผาความสามัคคีของคนไทยอีก คนที่ได้ฟังคงสมเพชเวทนา ที่ว่าจะเข้ามาสร้างความปรองดองและแตกต่างจากนักการเมือง สุดท้ายก็อีหรอบเดียวกัน

แทนที่จะชี้แจงด้วยเหตุด้วยผลรวมไปถึงแนวคิดที่ว่าจะทำให้ดีขึ้นนั้นทำอย่างไร กลับใช้วาทกรรมตอบโต้ซึ่งนอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยังเป็นการทำลายบรรยากาศที่ผู้มีอำนาจอ้างว่าต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ไปเสียฉิบ ถ้าไม่อยากฟังนักการเมืองก็แนะนำให้โฆษกรัฐบาลลองไปสืบค้นข้อมูลของคนที่เขาเห็นแย้งแนวคิดของรัฐมนตรีสาธารณสุขดูก็ได้

ในเพจ “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” มีหนึ่งความเห็นที่น่าสนใจ โดยเจ้าของเพจเริ่มต้นว่า บัตรเดียวทำประเทศถังแตก ก่อนจะอธิบายต่อว่า คงไม่มีใครเถียงเรื่องงบประมาณโครงการนี้ที่ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลคนไข้อายุยืนมากขึ้น คนไข้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า โครงการนี้คุ้มที่จะทำต่อหรือไม่ คำตอบก็คือ น่าจะคุ้มที่จะทำต่อ

แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า ต้องปรับเปลี่ยน แต่ยังไม่มีใครบอกว่ายกเลิก ดังนั้น ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ เงินไม่พอ จากปัญหานี้ตนตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ไม่ว่าจะเป็น 10 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม พร้อมๆ กับมีการยกตัวอย่างประกอบว่า คนไข้ของเจ้าของเพจจ่ายยา 3 เดือน 3 พันบาท

หากจ่ายร่วมต่ำสุด 10 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเงิน 300 บาทถ้าจ่ายร่วม 30 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเงิน 900 บาท แต่กว่าคนไข้จะมาโรงพยาบาลทีต้องรอรถเมล์ฟรี มาโรงพยาบาลหนึ่งวันรายได้หายไป 300 บาทซึ่งต้องคิดแล้วคิดอีก เช่นเดียวกับกรณีคนขับวินมอเตอร์ไซค์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน ค่ารักษา 3 แสนบาทจ่ายร่วม 10 เปอร์เซ็นต์ก็ 3 หมื่นบาทแล้ว จึงไม่อยากคิดต่อถ้าจะต้องจ่ายมากกว่านั้น

ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายในวิธีที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ ใช้ภาษีที่ทุกคนร่วมกันจ่ายอยู่แล้ว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ได้มีใครได้รับการยกเว้นยากจนแค่ไหนก็ต้องจ่าย เช่น การซื้อสินค้าทุกๆ ครั้งก็ต้องจ่ายเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม นี่แหละคือการร่วมจ่าย ใครที่คิดว่ามีแต่มนุษย์เงินเดือนหรือข้าราชการเท่านั้นที่จ่ายภาษีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

หากงบประมาณไม่พอสำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการที่จะต้องคิดว่า จะหางบประมาณเพิ่มจากไหน ก่อนจะแนะนำต่อไปว่าถ้าเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขจะไม่เรียกร้องให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่จะลุกขึ้นร้องต่อรัฐบาลว่า หน้าที่ที่จะใช้เงินอย่างคุ้มค่า หน้าที่ที่จะรักษาชีวิตประชาชน หน้าที่ที่จะดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เป็นหน้าที่ของผม ส่วนหน้าที่ของคุณผู้เป็นรัฐบาลก็คือ  หางบประมาณมาให้ผมใช้ 

ตราบใดที่ผมยังใช้มันได้อย่างสมเหตุสมผล งบไหน เรื่องใด สำคัญกว่ากัน  คุ้มค่า คุ้มราคา ได้ประโยชน์มากกว่ากัน คุณต้องทำหน้าที่ชั่งตวงวัด หากกล้าหาญและกล้ารับผิดชอบ ก็บอกออกมาเลยว่า เรื่องไหนมันสำคัญกว่ากัน งบประมาณไหนที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเรื่องนี้ก็บอกออกมา เทียบเคียงแค่ว่าระหว่างงบดูแลสุขภาพของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนกับงบซื้อเรือดำน้ำ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน

ทั้งหมดนี้ หากไม่ใช้อคติหรือมีแผนการที่จะเข้ามาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อโครงการนี้ บิ๊กตู่และชาวคณะต้องกล้ายืนยันว่า ภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาล มีหนทางที่จะหามาเพื่อดูแลการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของประชาชนทุกระดับ แต่หากเห็นว่าไม่มีความสามารถจะบริหาร ก็หลีกทางให้คนที่เขาทำได้มาทำแทนจะดีกว่า

ง่ายๆ น่าจะลองปรึกษา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ร่วมรับรู้รับทราบในโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นว่ารัฐบาลในอดีตเขาบริหารจัดการกันอย่างไร ไม่ใช่แสดงอาการบ่มไก๊ให้คนเขาเวทนา เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนชื่อเรียกประชานิยมเป็นประชารัฐ ก็หาได้ทำให้ภาพของรัฐบาลดูดีขึ้นมาแม้แต่น้อย เพราะทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านและโครงการตำบลละห้าล้าน ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่อดีตรัฐบาลภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการประสบความสำเร็จมาทั้งสิ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญหลังจากเคาะเรื่องที่มาส.ว.และปลดล็อกปมสภาผัวเมียเรียบร้อย ก็มีประเด็นน่าติดตามว่าด้วยข้อเสนอของสนช. 4 ประเด็นที่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 อุบไต๋ไม่ยอมบอกว่าเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ที่ กล้านรงค์ จันทิก รองประธานกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.เปิดเผยละเอียดยิบ

ใน 4 ประเด็นที่สำคัญนั้น ประกอบด้วย ที่มาของส.ส.และการเลือกตั้งโดยเสนอให้ส.ส.มีจำนวน  500 คน จากการเลือกตั้งแบบเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ประเด็นที่มาส.ว.เสนอให้มีจำนวน 200 คน ใช้วิธีการสรรหาจากกลุ่มวิชาชีพและให้มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองเช่นเดิม ส่วนที่มาของนายกฯเป็นคนนอกได้ ไม่ต้องเป็นส.ส.แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมส.ส. เปิดทางให้คนนอกสามารถเข้ามาแก้วิกฤติบ้านเมือง

สุดท้ายคือความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการเพื่อแก้วิกฤติประเทศ โดยสนช.เห็นว่าต้องมีในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติทางออกไว้ แต่คณะกรรมการดังกล่าวต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม ข้อเสนอทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากใกล้เคียงหรือแทบจะเหมือนกับร่างชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุดท้ายเป็นบทสรุปว่าองคาพยพของผู้มีอำนาจยังคงเป้าหมายเดิมไว้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ จะเจียระไนอย่างไรให้เนียน (แหก) ตาประชาชนเท่านั้น

Back to top button