ดาวรุ่งที่กลับมาพลวัต 2015

เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2559 ด้วยความโดดเด่นเหนือชาติสมาชิกอาเซียนอื่นใด นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้


เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2559 ด้วยความโดดเด่นเหนือชาติสมาชิกอาเซียนอื่นใด นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ชาติที่คุยโม้ว่ามีความเ นือกว่าเวียดนามหลายเท่า คงจะต้องเร่งทบทวนตัวเองโดยเร็ว ก่อนสายเกินไป

ตัวเลขล่าสุดเดือนพฤศจิกายน ที่ไม่ใช่ตัวเลขขี้โม้ หากได้รับการรับรองจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ รวมทั้งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ตอกย้ำว่า  อัตราเติบโตจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะอยู่ที่ 7.01% ดีที่สุดในอาเซียน

ผลของการเติบโตดังกล่าวคาดว่า ตลอดทั้งปี 2558 นี้ จีดีพีเวียดนามจะอยู่ที่ 6.68% ดีกว่าที่เคยมีคนคาดการณ์เอาไว้ที่ 6.60%

การเติบโตที่เริ่มขึ้นอย่างเอื่อยเฉื่อยในต้นไตรมาสแรกของปี จนกระทั่งผงาดในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ เป็นเรื่องผิดที่คาดหมายเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่าฐานรากของนโยบายรัฐบาลที่ดำเนินการมาหลายปีก่อนในเรื่องการทำความสะอาดบ้านในธุรกรรมการเงินสารพัดเพื่อลดฟองสบู่ทางธุรกิจเริ่มได้รับการตอบสนอง

เวียดนามเคยเป็นดาวรุ่งของอาเซียนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่เศรษฐกิจที่มีตัวเลขจีดีพีโตปีละ 9-10% ถูกบั่นทอนให้เลวร้ายลงด้วยตัวเลขเงินเฟ้อปีละ 15% และฟองสบู่จากการปล่อยกู้ที่เละเทะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และหนี้เน่ามหาศาลที่มีคนในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมรู้ร่วมคิดด้วย จึงต้องมีการขจัดเงินเฟ้อ และล้างบางสถาบันการเงินหลายแห่ง

ผลของการทำความสะอาดบ้าน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามชะงักงันไป 2 ปีเศษ ถึงขั้นต้องมีการลดค่าเงินด่องหลายครั้งในแต่ละปี เพิ่งจะเริ่มทรงตัวเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง

ปีนี้จึงเป็นปีของการรับผลพวงทางบวกของการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แม้ว่า อาจจะยังคงมีการลดค่าเงินด่องมากถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ตลาดหุ้นเวียดนามที่โฮจิมินห์ซิตี้ เคยมีดัชนีต้นปี 2556 ที่ระดับ 380 จุด ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 560 จุด แต่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 620จุด สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของตลาดที่มีอนาคตสดใสชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่บรรดากองทุนตลาดเกิดใหม่เริ่มเข้าไปลงทุนต่อเนื่อง

เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเวียดนาม เกิดจากแรงเหวี่ยงของการลงทุนต่างชาติที่มุ่งส่งออก ทำให้ตัวเลขการส่งออกของเวียดนาม และตัวเลขการจ้างงานในประเทศกระเตื้องขึ้นยังผลให้ตัวเลขการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ตัวเลขส่งออกที่เติบโต 8.1 % (เทียบกับไทยที่ติดลบ 4%) ด้วยมูลค่ารวม 1.624 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 4.2 ล้านล้านบาท) โดยที่ตัวเลขส่งออกที่พุ่งแรงสวนภาวะเศรษฐกิจโลกนี้ มาจากตัวเลขของบริษัทต่างชาติหรือร่วมทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นหลักมากถึง 71% เลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ คือบริษัทที่ย้ายฐานไปจากการลงทุนในเมืองไทยนั่นเอง

ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงที่หลั่งไหลเข้าทุ่มเงินปีนี้กระโดดสูงถึง 17.4% ด้วยตัวเลขเม็ดเงิน 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขส่งออกที่โดดเด่นนี้ ถือว่าพลาดเป้าเติบโต 10% ของกระทรวงพาณิชย์เวียดนามเล็กน้อย เพราะสาเหตุสำคัญคือราคาส่งออกได้ลดลงจากผลกระทบของราคาสินค้าทั่วโลกที่มีการแข่งขันรุนแรงนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือตัวเลขนำเข้าสินค้า ซึ่งมี 2 ส่วนคือสินค้าทุน (เครื่องจักรและอุปกรณ์) กับวัตถุดิบหรือกึ่งสำเร็จที่เพิ่มขึ้นถึง 12% สะท้อนถึงความคึกคักของการลงทุนจากต่างชาติได้ชัดเจน ไม่ใช่แค่ราคาคุยหรือตัวเลขปลอบใจเหมือนบางประเทศ

ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินในเวียดนาม (แม้จะมีการควบคุมคุณภาพสินเชื่อเข้มข้นเหมือนเดิม) ปีนี้เติบโตก้าวกระโดดมากถึง 18% ทำให้หุ้นธนาคารและการเงินในตลาดหุ้นโฮจิมินห์พุ่งพรวด เพราะเชื่อว่ากำไรกลุ่มนี้อู้ฟู่แน่นอน

ส่วนร้านค้าปลีก มีตัวเลขยอดขายโตกระโดดเช่นกัน มากถึง 9.5% ในขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมก็ไม่ด้อยกว่ากันเติบโตปีนี้มากถึง 9.8% จากตัวเลขโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มกำลังผลิตมากถึง 10.6%

นายกรัฐมนตรีเหวียน ทัน ดุง เพิ่งประกาศไม่นานนี้ว่า ปีหน้า จีดีพีของเวียดนามจะโตที่ระดับ 6.7%  แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าเงินด่องอยู่ไม่น้อยก็ตาม สะท้อนความมั่นใจที่สูง แต่มีเหตุผล

ขาขึ้นของเศรษฐกิจเวียดนามที่น่าอิจฉาอย่างยิ่งนี้ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นว่า ความสามารถในการกำหนดทิศทางของประเทศด้วยวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรมกับกระแสโลกที่ไม่ใช่การมโนนึกเอาเองอย่างหลงทางนั้น มีความสำคัญมากเพียงใด

ขาขึ้นที่เป็นอยู่ไม่หมดแรงเหวี่ยงง่ายๆ ถือเป็นแต้มต่อสำคัญของเวียดนามในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี เพราะเท่ากับมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการเปิดตลาดให้กว้างขึ้น

Back to top button