เศรษฐกิจสวยด้วยทหารทายท้าวิชามาร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ตอบโต้พรรคเพื่อไทยที่คาดการณ์เศรษฐกิจ 2559 ย่ำแย่ ว่า “จ้องเล่นงาน” สวนทางการวิเคราะห์ขององค์กรเศรษฐกิจชั้นนำต่างๆ หอการค้าฯ สถาบันการเงิน ซึ่งลงความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 จะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เงินบาทอ่อนค่า สินค้าไทยได้เปรียบ รัฐบาลเดินหน้าเร่งใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวก็ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย


ใบตองแห้ง

 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ตอบโต้พรรคเพื่อไทยที่คาดการณ์เศรษฐกิจ 2559 ย่ำแย่ ว่า “จ้องเล่นงาน” สวนทางการวิเคราะห์ขององค์กรเศรษฐกิจชั้นนำต่างๆ หอการค้าฯ สถาบันการเงิน ซึ่งลงความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 จะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เงินบาทอ่อนค่า สินค้าไทยได้เปรียบ รัฐบาลเดินหน้าเร่งใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวก็ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย

ก็ไม่ทราบโฆษกไก่อูได้อ่านการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่างเจาะลึกเพียงไร แต่เท่าที่ผมได้อ่าน อธิการบดีหอการค้าฯ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย ล้วนบอกตรงกัน เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแน่ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังเปราะบาง เศรษฐกิจโลกยังผันผวนประเมินยาก การส่งออกอาจเป็นบวกต่ำๆ แต่ไม่ใช่จะดีนัก เพราะทุกประเทศลดค่าเงิน รายได้เกษตรกรยังติดลบต่อเนื่อง ซ้ำอาจเจอภัยแล้ง

ฉะนั้น เศรษฐกิจที่ว่าดี ก็ยังมีโจทย์ยาก ดีเพียงบางภาค และยิ่งเหลื่อมล้ำหนักเพราะเกษตรกรย่ำแย่ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยซบเซา

ผมเชื่อนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ในแง่เศรษฐกิจล้วนๆ เพียงอยากตั้งคำถามเพิ่มว่า แล้วการเมืองไทยล่ะ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดหรือยัง เพราะเราไม่สามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยไม่มองว่านี่คือปีหัวเลี้ยวหัวต่อ ปีแห่งการ “เปลี่ยนผ่าน”

คือถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติ กลับสู่เลือกตั้ง เป็นไปอย่างราบรื่น ทุกฝ่ายยอมรับ ก็คงใช่ เศรษฐกิจคงขยายตัวตามที่คาดการณ์ แต่ถ้าไม่เป็นตามนั้น จะต้องติดลบเท่าไหร่

ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจโลกหรอกที่ผันผวนประเมินยาก การเมืองไทยก็ผันผวนประเมินไม่ถูกเช่นกัน ดูสิ แค่ไม่กี่วันหลังปีใหม่ สถานการณ์ก็ร้อนแรงทั้ง “คณะปฏิวัติกลัวปฏิทิน” และร่างรัฐธรรมนูญ “ยาแรง” ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ข่มขู่ว่าใครบิดเบือนประชามติต้องรับผิดชอบ

ถ้าประเมินท่าทีทั้ง คสช.และ กรธ. ก็คือจะเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญตามต้องการ แล้วผลักดันให้ผ่านประชามติโดยไม่แยแสผู้คัดค้าน ซึ่งพวกท่านคงทำสำเร็จ แต่ถามว่าหลังจากนั้นจะกลับสู่การเลือกตั้งอย่างไร หรือคิดว่าจะใช้อำนาจปิดกั้นควบคุมผู้คัดค้านได้ตลอดไป ด้วยการวางกลไกอำนาจต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญ

คุณจะสยบคนไม่เห็นด้วยอยู่ตลอดไปได้อย่างไร แน่ละวันนี้อาจมี ม.44 มีอำนาจทหาร แต่วันไหนที่มีช่องทาง กระแสต้านก็จะตอบโต้และตีกลับอยู่ดี มีทางเดียวเท่านั้นคือปกครองด้วยรัฐทหารไปเรื่อยๆ อยู่ไปอย่างนี้อีก 2-3 ปี แต่ลงจากอำนาจไม่ได้นะเพราะลงเมื่อไหร่จะถูก “เอาคืน” ขณะเดียวกันก็ห้าม “สะดุดขาตัวเอง” แบบอุทยานราชภักดิ์หรือใหญ่กว่า

ขณะเดียวกันถ้ามองการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังเห็น “เงื่อนไข” ขัดแย้งมากขึ้นคือ เศรษฐกิจจะดีเฉพาะบางภาค โดยเฉพาะที่มาจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งแปลว่ารัฐมีอำนาจมากในการสร้างความเหลื่อมล้ำ แต่เราอยู่ในยุครัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้

ในภาคประชาชน คนที่ประสบปัญหาหนักคือเกษตรกรในชนบท ตรงข้ามกับข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ มนุษย์เงินเดือน ซึ่งมาสเตอร์โพลล์ระบุว่าอยากให้รัฐบาลนี้อยู่ไปอีก 3 ปี เพราะได้ปรับเงินเดือนได้เที่ยวได้ช้อปได้ลดภาษี โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เอาเลือกตั้งอยู่แล้ว

การเมืองไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุดหรอกนะครับ เพียงถูกอำนาจกองทัพกดไว้ จุดต่ำสุดจะมาถึงเมื่อไหร่ รุนแรงแค่ไหน ยังไม่มีใครบอกได้

Back to top button