เยนแข็ง หยวนอ่อนพลวัต 2016

ความพยายามน่าเวียนหัวแบบ "หมอมือใหม่" ของทางการจีน ในการสร้างสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติเรียกว่า "พลังทีมชาติ" (national team forces) ป้องกันดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และอื่นร่วงต่ำกว่าแนวรับจิตวิทยาจากวิกฤตศรัทธาของนักลงทุน ยังจะมีต่อไปอีกนานนับเดือน ตราบใดที่ข่าวร้ายยังทยอยถูกผลิตออกมา ที่สะท้อนว่าโมเดลเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง หมดประสิทธิผลแล้ว


วิษณุ โชลิตกุล

 

ความพยายามน่าเวียนหัวแบบ “หมอมือใหม่” ของทางการจีน ในการสร้างสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติเรียกว่า “พลังทีมชาติ” (national team forces) ป้องกันดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และอื่นร่วงต่ำกว่าแนวรับจิตวิทยาจากวิกฤตศรัทธาของนักลงทุน ยังจะมีต่อไปอีกนานนับเดือน ตราบใดที่ข่าวร้ายยังทยอยถูกผลิตออกมา ที่สะท้อนว่าโมเดลเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง หมดประสิทธิผลแล้ว

ระหว่างนี้ ความผิดปกติของเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลข้างเคียง ก็เกิดขึ้นแปลกๆ ให้เห็นเป็นกรณีศึกษา อย่างที่ในยามปกติจะไม่ได้เห็นกัน หนึ่งในนั้นคือ กรณีที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลก เฮละโลกันเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันและดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์แรกของปีดิ่งเหว จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไปมากถึง 2.5% อยู่ที่ระดับ 117 เยนต่อดอลลาร์ และแข็งขึ้นเทียบยูโร 2.1% ไปที่ 128 เยนต่อยูโร แข็งค่าสุดในรอบหลายปี

การเข้าซื้อเงินเยนดังว่า ถือเป็นความบ้าบิ่นมากของบรรดาผู้จัดการกองทุน เพราะเป็นที่รู้กันดีทั้งโลกมายาวนานกว่า 25 ปีแล้วว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นพร้อมจะกระโดดเข้าแทรกแซงให้ค่าเยนอ่อนลงทุกเมื่อ

ในประวัติศาสตร์การเงินโลกแล้ว มีครั้งเดียวเท่านั้นที่ญี่ปุ่นยอมให้ค่าเงินแข็งกะทันหัน ก็คือช่วงค.ศ. 1985 (2528) หลังข้อตกลง “พลาซ่าแอคคอร์ด” เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังของสหรัฐฯในยุคที่ “เรแกนโนมิกส์” ย่างเข้าสู่ภาวะวิกฤต

เรแกนโนมิกส์ คือนโยบายเศรษฐศาสตร์เน้นอุปทานเพื่อสร้างอุปสงค์ ด้วยการดันให้ดอลลาร์แข็งค่าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการเงินของตลาดเงินและวอลล์สตรีท  และลดอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงในยุคจิมมี่ คาร์เตอร์ลงไป ผลลัพธ์ข้างเคียง คือ ดอลลาร์แข็งค่ารุนแรงเทียบกับเงินสกุลอื่นอย่างดอยช์มาร์ก ปอนด์สเตอร์ลิง เฟรนช์ฟรังก์ และเยนญี่ปุ่น  มากถึง 50% 

การแข็งค่าดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังนานถึง 5 ปี ระหว่าง ค.ศ.1980-1985 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในกลางปี 1985 ขาดดุลถึง 3.5% ของจีดีพี เข้าขั้นอันตราย และบริษัทอเมริกันขายสินค้าไม่ออก และสินค้านำเข้าตีตลาดสหรัฐฯกระจุย จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯเร่งออกกฎหมายต่อต้านการนำเข้าหรือปกป้องการค้าทุกรูปแบบ 

แรงกดดันทำให้ทำเนียบขาวจำต้องเรียกประชุม 5 ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยามนั้นที่โรงแรมพลาซ่า นิวยอร์ก เพื่อหาทางออกค่าดอลลาร์แข็งเกิน ยื่นข้อเสนอให้ชาติมหาอำนาจอีก 4 แห่งเลือกเอาว่า หากไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายปกป้องการค้าผ่านรัฐสภาอเมริกัน ชาติต่างๆ ต้องยินยอมช่วยกันขายเงินดอลลาร์อเมริกันที่ถือไว้ออกจากมือ เพื่อให้ดอลลาร์เสื่อมค่าลง โดยยอมแลกกับความเสียหายจากการส่งออกของทั้ง 4 ชาติ

ทางเลือกหลังเป็นที่ยอมรับ

หลังข้อตกลงดังกล่าว เงินเยนแข็งค่ารุนแรงจากการแทรกแซงหนักหน่วง จากระดับมากกว่า 240 เยนต่อดอลลาร์ก่อนข้อตกลง เหลือเพียงแค่ 120 เยนต่อดอลลาร์ภายใน 2 ปีต่อมา ทำให้กลุ่มทุนญี่ปุ่นเจอปัญหา 2 ด้านพร้อมกัน ด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตของโรงงานในประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่สามารถทานทนต่อไป กับอีกด้านกำลังซื้อของค่าเงินเยนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ด้านแรก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานผลิตของทุนอุตสาหกรรม ปิดโรงงานในญี่ปุ่นมหาศาล เพื่อย้ายไปผลิตในประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ อาเซียน เม็กซิโก เปรู และบราซิล รวมทั้งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงปี   ค.ศ.1987-1992 เฟื่องฟูรุนแรงจากการหลั่งไหลเข้าของทุนโดยตรงของญี่ปุ่น เจอส้มหล่นทางนโยบายกะทันหัน เผชิญกับปัญหา “เศรษฐกิจร้อนแรงเกินขนาด” ช่วงหนึ่งจนเป็นที่มาของการรัฐประหารปี ค.ศ. 1991 

อีกด้านหนึ่งทุนการเงินญี่ปุ่น พากันหลั่งไหลออกต่างประเทศเพราะภาวะ “มหาอำนาจเงินเยน” (Yen Power) เข้าซื้อกิจการทุกอย่างที่ขวางหน้าในสหรัฐอเมริกา นับแต่โรงงาน บริษัทในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก แต่ที่โด่งดังเป็นสัญลักษณ์ยามนั้นคือ การเข้าซื้ออาคารสำนักงานใจกลางนิวยอร์ก ร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ที่ทำให้ขวัญของคนอเมริกันหล่นไปกองที่ปลายเท้าระยะหนึ่ง เพราะทำใจไม่ได้ 

การแข็งค่าของเงินเยนแบบนั้น  (ที่ตามมาด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และภาวะะฟองสบู่แตกในเวลาต่อมา) ไม่เคยกลับมาเกิดขึ้นอีกเลยหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและสงครามเย็น เพราะด้านหนึ่งญี่ปุ่นต้องจมปลักกับภาวะเงินฝืดยาวนานกว่า 20 ปีจนถึงปัจจุบัน และธนาคารกลางญี่ปุ่นมักจะเลือกขอเป็นตัวการ “ปรับดุลยภาพค่าเงินเยน” มาตลอดด้วยการแทรกแซงค่าเงินเยนให้เทียบกับดอลลาร์ในระดับรอบๆ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาจนถึงทุกวันนี้

ดุลยภาพค่าเงินเช่นนี้ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศผลักดันให้เงินหยวนกลายเป็นหนึ่งในตะกร้าคำนวณค่าเงิน SDRs ปลายปีที่ผ่านมา หรืออีกนัยหนึ่ง หยวนกลายเป็นเงินสกุลมหาอำนาจใหม่ล่าสุดของโลก เคียงข้างเงินดอลลาร์ ยูโร เยน และปอนด์สเตอร์ลิง

เมื่อเงินหยวนเถลิงอำนาจขึ้น ปฏิบัติการทดสอบพลัง “โยนก้อนหินถามทาง” กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลกของจีนก็เริ่มขึ้นในต้นปีนี้ ด้วยการที่ธนาคารกลางจีนลดค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์ 4 วันรวด ทำให้ตลาดหุ้นร่วงแรงทั่วโลก จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา 

คำถามคือ แล้วเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก กับหยวนที่อ่อนค่าลงไป (เพิ่งจะกลับแข็งค่าเมื่อวานนี้เองเมื่อทางการจีนเข้าแทรกแซงในตลาดเงินฮ่องกง) จะมีทิศทางเช่นไรในอนาคต ยังเป็นโจทย์ที่ไม่มีคำตอบชัดเจน

ในระยะสั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่มีปฏิกิริยาอะไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นไม่ชอบใจนัก เพราะค่าเยนที่แข็งหมายถึงธุรกิจส่งออกญี่ปุ่นจะกำไรลดลง ดังนั้นเชื่อได้ว่า หากเงินเยนยังแข็งค่าต่อไป โอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะออกมาให้บทเรียนสั่งสอนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ย่อมมีขึ้นได้  เว้นเสียแต่ว่าธนาคารญี่ปุ่นจะพอใจให้ค่าเงินเยนแข็งโดยเจตนาบางอย่าง (ซึ่งผิดวิสัยยิ่ง)

โจทย์ค่าเงินเยนกับหยวนยามนี้ ก็ยังต้องหาคำตอบที่สำคัญ เพียงแต่นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ประเด็นนี้เป็นแค่ส่วนย่อยของโจทย์ใหญ่กว่า คือการที่จีนยังรับมือกับการปรับฐานเป็นขาลงชั่วคราวของเศรษฐกิจไม่ได้ดีพอ จนกระทั่งบรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนเสียหายมากกว่าปกติ

ตราบใดที่ยังไม่ตอบโจทย์ใหญ่กว่าได้ โจทย์ย่อยอื่นๆ จะโผล่มาให้ปวดหัวต่อไปไม่จบง่าย 

Back to top button