ทุนนิยมประชารัฐทายท้าวิชามาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา มาเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์ ฯเมื่อวันศุกร์ นอกจากบ่นเรื่องคนไม่ฟังท่านพูด บ่นเรื่องคนดึงขา บ่นว่าคนไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งก็คือมาตรา 44 บ่นเรื่องพระ ไปถึงปัญหาเกษตรกร ฯลฯ แล้วยังบ่นเรื่องที่คนหาว่าดูแลแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งที่เจตนาบริสุทธิ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น


ใบตองแห้ง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา มาเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์ ฯเมื่อวันศุกร์ นอกจากบ่นเรื่องคนไม่ฟังท่านพูด บ่นเรื่องคนดึงขา บ่นว่าคนไม่เคารพกฎหมาย ซึ่งก็คือมาตรา 44 บ่นเรื่องพระ ไปถึงปัญหาเกษตรกร ฯลฯ แล้วยังบ่นเรื่องที่คนหาว่าดูแลแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งที่เจตนาบริสุทธิ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ท่านคงรู้ดีว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจถูกวิจารณ์ว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ มีคนได้คนเสีย ซ้ำคณะกรรมการประชารัฐที่เอานักธุรกิจใหญ่ไปขับเคลื่อนกับรัฐมนตรีก็ทำให้คนไม่ไว้วางใจ

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก การกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการปฏิรูปเศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้ที่จะ “ได้” กันทุกภาคทุกฝ่าย เพราะธุรกิจไหนไม่มีอนาคตรัฐก็ไม่ส่งเสริม ธุรกิจไหนที่ดึงรายได้เข้าประเทศมาก รัฐก็กระตุ้นให้ลงทุน เป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาล

เพียงแต่รัฐบาลนี้ไม่เหมือนรัฐบาลอื่น ตรงที่มาจากรัฐประหาร ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีเสถียรภาพ การตัดสินใจการแก้ปัญหาฉับไว อีกด้านหนึ่งเมื่อผู้เสียประโยชน์ท้วงติงไม่ได้ก็อาจเกิดช่องโหว่ไม่เป็นธรรม หรือนานไปก็อาจเกิดการฉ้อฉล

ภาคธุรกิจชอบรัฐบาลแบบนี้ไหม ชอบนะครับ ชอบมากด้วยถ้าพูดจากันเข้าใจ ภาคธุรกิจชอบรัฐบาลเข้มแข็ง ตัดสินใจรวดเร็ว ซึ่งในอดีตก็ไม่ใช่อื่นไกล รัฐบาลทักษิณไง เข้าใจกันดีด้วยเพราะมาจากนักธุรกิจ เสียแต่ช่วงท้ายทักษิณให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มจนทุนใหญ่บางกลุ่มหันไปหนุนรัฐประหาร

ภาคธุรกิจชอบรัฐประหารครั้งนี้ไหม ชอบสิครับ เพราะความปั่นป่วนวุ่นวายปี 56-57 ทำให้แทบไม่ได้ทำมาหากิน แม้กังวลอยู่บ้างเมื่อคำนึงถึงอนาคต ไม่รู้ว่าการเมืองจะลงเอยแบบไหน ความสงบชั่วคราวก็ทำให้โล่งอก

ยิ่งกว่านั้น ความหวั่นวิตกต่อวิกฤติการเมืองยาวนานสิบปี ความกลัวว่าประเทศจะถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ จากการเคลื่อนไหวมวลชน 2 ฝ่ายที่ใหญ่โตกว้างขวางไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งไม่รู้จะนำไปสู่อนาคตแบบไหน ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนก็คิดเหมือนทหารและฝ่ายความมั่นคง คือต้องพยายามเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ จึงกระโดดเข้าไปร่วมมือกับ คสช.อย่างแข็งขัน

ในช่วงแรก ยุคหม่อมอุ๋ย ยังอาจมีขีดคั่นอยู่บ้าง แต่ยุคสมคิด ยิ่งพูดภาษาเดียวกันไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณตอนต้น

ย้ำอีกที “ทุนนิยมประชารัฐ” ไม่ถึงกับเลวร้าย แต่ระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่ต่างหากจะส่งปัญหาอีกด้าน แม้วันนี้ยังไม่เห็นแต่อาจพลิกผันในอนาคต ถ้ายกภาพเปรียบเทียบก็คือในขณะที่ภาคธุรกิจชื่นชมรัฐบาล ภาคแรงงานก็กำลังไม่พอใจการใช้ ม.44 กดดันประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และบีบให้สหภาพซันโกโคเซเลิกชุมนุม

ปัญหาสำคัญคือ ระบอบ คสช.จะมีที่ลงอย่างไร ยังไม่มีใครมองออก จะผ่านไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญที่วางกลไกควบคุมอำนาจได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ประชาธิปไตยจะกลับมาเมื่อไหร่ และมาอย่างไร ความไม่พอใจของผู้คนที่สั่งสมไว้จะส่งผลอย่างไร

โดยเฉพาะความไม่พอใจต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เช่าที่ดิน 99 ปี ลดภาษี สิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งคนไม่พอใจไม่ได้มีแค่ข้างเดียว พวกที่เคยเป่านกหวีดก็ออกอาการไม่พอใจ

ภาคธุรกิจที่เข้าไปร่วมมือกับรัฐบาลก็คิดเผื่อไว้บ้างนะ ถ้าวันหนึ่งกระแสตีกลับจะเกิดอะไร                                                                                                        

Back to top button