ภูเขา 3 ลูกของจีนพลวัต 2016

ในการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส ที่สวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้ เรื่องของจีนได้รับความสนใจมากกว่าหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวกับยุคของหุ่นยนต์ทางการผลิต ที่เจ้าภาพจัดวาระขึ้นมา


วิษณุ โชลิตกุล

 

ในการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส ที่สวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้ เรื่องของจีนได้รับความสนใจมากกว่าหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวกับยุคของหุ่นยนต์ทางการผลิต ที่เจ้าภาพจัดวาระขึ้นมา

โจเซฟ สติลลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนดัง ออกมาพูดเรื่องของจีนไว้น่าฟังว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนถูกนักการเงินและตลาดทุนตีความเลยเถิดเสมือนหนึ่งจีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ทั้งที่อัตราเติบโตของจีพีดี ที่ระดับใกล้เคียงกับ 7% หรือต่ำกว่านิดหน่อยนั้น ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ที่สำคัญ สติกลิตซ์ ระบุเองว่า สิ่งที่ หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนพูดเอาไว้ที่ดาวอส เมื่อปีที่แล้ว ว่าจีนจะไม่มีวันเผชิญกับภาวะฮาร์ด แลนดิ้ง นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยังคงใช้การได้

การรับรองอย่างแข็งขันของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอเมริกันนั้น ไม่ได้ช่วยทำให้เรื่องของจีนลดความสำคัญลง เพราะตราบใดที่การบริหารการเงินของจีนยังคงขาดความชัดเจน และขาดประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก สถานการณ์ราคาน้ำมันล้นตลาด และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งเหวทั่วโลก จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ไม่เห็นโอกาสฟื้นตัวเลย

ภาวะที่เรียกกันว่า “ภูเขา 3 ลูกของเศรษฐกิจจีน” ยามนี้ เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งจะรบกวนเศรษฐกิจและการเงินจีนอีกยาวนานหลายปีเลยทีเดียว

ภูเขา 3 ลูกดังกล่าว มีคำตอบชัดเจนว่าคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 3 ด้านที่ยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ครบถ้วน ได้แก่ 1) การปฏิรูปสถาบันการเงินการเงินเพื่อล้างบ้าน 2) ปรับโครงสร้างให้สมดุล แต่ยังรักษาการเติบโตต่อเนื่อง 3) ปล่อยค่าหยวนลอยตัวตามความจริง

ที่ผ่านมา แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลของเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า “แมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้” ได้รับความสำเร็จโดดเด่น จากการยอมรับเอาแนวทางที่พวกคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าและเถรตรงเรียกว่า “แนวทางลัทธิแก้โน้มเอียงทุนนิยม” ด้วยการยอมรับเอากลไกการตลาดมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าขึ้นเพื่อพัฒนาพลังการผลิต จนกระทั่งจีนเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยพลังทุนนิยม ทำให้จีนที่ปัจจุบันมีอัตราส่วนของจีดีพีมากถึง 15% ของเศรษฐกิจโลก มีความสำคัญขึ้นมา แต่ก็พบว่า ในความเติบโตอันรุ่งเรืองยาวนานกว่า 3 ทศวรรษนั้น ได้สร้างปัญหา “ดินพอกหางหมู” ที่เรื้อรังนั่นคือ การมีหนี้ 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 282% ของจีดีพีประเทศจีนโดยรวม

รากฐานของภาระหนี้ที่ท่วมประเทศอยู่นี้ เกิดจากการที่รัฐจีน ประนีประนอมให้เศรษฐกิจจีนโตด้วยการก่อหนี้ แบบทุนนิยม โดยไม่แยแสอย่างจริงจังกับการปฏิรูปสถาบันการเงิน และการปล่อยให้ค่าเงินหยวนลอยตัวเสรี แต่มีการคุมเข้มเสียจนกระทั่งบิดเบี้ยวกลายเป็นอุปสรรคในยามนี้

ในช่วงหนึ่ง รัฐจีน เคยเชื่อว่า การก่อหนี้จำนวนมากโดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจที่ขาดประสิทธิภาพ จะมีทางออกโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยลดถาระภาครัฐแบบที่เคยทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อน และทำให้ผู้บริหารมีการเรียนรู้โดยธรรมชาติที่จะสร้างพฤติกรรมลดการก่อหนี้จากการพึ่งพาสถาบันการเงิน

ผลลัพธ์ที่ไม่คาดหมายคือ การลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหุ้น กลับกลายเป็นการย้ายภาระหนี้จากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา เมื่อเกิดปรากฏการณ์สร้างหนี้จำนวนมหาศาลผ่านมาร์จิ้นเทรดดิ้งของนักลงทุนรายย่อย ผ่านสถาบันการเงินอย่างวาณิชธนกิจ และบริษัทหลักทรัพย์ อย่างชนิดที่หลบเลี่ยงจากเรดาร์ของทางการได้ จนกว่าจะเกิดปัญหาในยามตลาดขาลงอย่างเช่นปัจจุบัน

ในอดีต เหมา เจ๋อ ตง เอานิยายพื้นบ้านจีนเรื่อง  “ปู่โง่ย้ายภูเขา” มาเป็นเครื่องมือปลุกเร้าสถานการณ์ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ฝ่าฟันอุปสรรคของประเทศในหลายต่อหลายครั้ง แต่ภูเขา 3 ลูกของจีนในคราวนี้ ค่อนข้างยากลำบากในการหาทางออก เพราะมีลักษณะ “ไตรภาคีที่เป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity) ซึ่งหมายถึง การมุ่งแก้อย่างหนึ่ง จะส่งผลเสียต่ออย่างอื่นๆ ไม่มากก็น้อยเสมอ

มีคนสรุปชัดเจนว่า ไตรภาคีที่เป็นไปไม่ได้นี้ มาจากรากฐานที่ว่า จีนอยากเปิดประเทศแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะไม่อยากจ่ายต้นทุนแพงเกิน แต่ต้องการจ่ายต้นทุนเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าต่ำกว่าแทน ซึ่งไม่ผิดข้อเท็จจริง 

ผลลัพธ์จึงเกิดขึ้นในยามที่ เมื่อหยวนอ่อนค่าลงโดยเจตนา เพื่อรักษาความสามารถในการเติบโตและส่งออกของสินค้าจีน  ธนาคารกลางจีนเลือกเอาการเข้าซื้อหยวนในตลาดเงินออฟชอร์ฮ่องกง เพื่อดันค่าหยวนให้สูงขึ้นในนามของเสถียรภาพ แต่ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดคือ เงินหยวนเกิดการขาดแคลนกะทันหันในฮ่องกง ทำให้อัตราโอเวอร์ไนท์ผันผวนรุนแรง จากกระฉูดในวันที่เข้าซื้อ มาสู่ภาวะต่ำติดพื้นในวันถัดๆ มา ซึ่งการกระทำดังกล่าว ธนาคารกลางจีนอาจคิดว่าเป็นสงครามสั่งสอนพวกเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ แต่ตลาดกลับคิดตรงข้าม เพราะรู้ดีว่า ธนาคารกลางจีนจะเจอปัญหา “ชนะศึก แพ้สงคราม” ในอนาคตแบบเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษใน ค.ศ.1992  และ ธนาคารกลางไทยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นความจริงไปเสียแล้ว ไม่อยากยอมรับก็จำต้องยอมรับ

เรื่องของทุนไหลออก แม้ที่ผ่านมาจีนต้องการให้ทุนไหลออกเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ  แต่ต้องการให้ไหลออกในรูปของการท่องเที่ยว และในการลงทุนซื้อเทคโนโลยี ผ่านการซื้อกิจการ ไม่ใช่ไหลออกไปหลบซ่อนด้วยการซื้อทรัพย์สินถาวรในต่างประเทศ  แล้วไม่คิดจะกลับเข้ามาอีกยาวนาน

การไหลออกของทุนมากกว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีที่ผ่านมา  เทียบกับทุนไหลเข้า 3.2 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้จีนรู้ตัวว่า มีทางเลือก 2 ทางเท่านั้นในการป้องกัน คือ การแสดงว่าต้องการให้ทุนต่างชาติ และเอกชนได้รับการ “ปูพรมแดง” ด้วยการเปิดเสรีอัตราแลกเปลี่ยน และ ควบคุมหนี้ที่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจ “มีเส้น” อย่างเคร่งครัดในการประเมินคุณภาพหนี้ตามกฎบาเซิล แต่ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงหากนำแนวทางนี้มาใช้ เพราะเท่ากับอำนาจควบคุมเหนือรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) จะลดลงชัดเจน 

เมื่อทำทั้งสามอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องเลือกว่าจะยอมเสียส่วนไหนในเวลาหนึ่งๆ เสมอ ซึ่งหน่วยงานรัฐจีน ยังตอบไม่ได้ว่าจะยอมเสียอะไรบ้าง เป็นเรื่องผะอืดผะอมอย่างยิ่งในยามนี้

Back to top button