‘บุญทักษ์’ กับ 8 ปี TMBลูบคมตลาดทุน

สิ้นปี 2559 นี้ คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ก็จะหมดวาระในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “แบงก์ทีเอ็มบี” แล้ว หลังนั่งบริหารมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551


ธนะชัย ณ นคร

 

สิ้นปี 2559 นี้ คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ ก็จะหมดวาระในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “แบงก์ทีเอ็มบี” แล้ว หลังนั่งบริหารมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551

เวลาผ่านไปเร็วมากจริงๆ

นั่นเพราะส่วนตัวนั้น ยังจำช่วงที่ต้องทำข่าวทีเอ็มบี กำลังสาละวนกับการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนอยู่เลย

“เสี่ยงแป๋ง” คุณสมในนึก เองตระกูล ที่ในขณะนั้นรั้งตำแหน่งประธานกรรมการของทีเอ็มบี ต้องคอยออกมาให้ข่าวแจ้งความคืบหน้ากับการหาพันธมิตรอยู่เนืองๆ

กระทั่งมาจบที่กลุ่มไอเอ็นจี ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเงินของยุโรป สัญชาติจากเนเธอร์แลนด์

ในช่วงนั้นเรายังไม่ค่อยคุ้นกับคำว่าทีเอ็มบีมากนัก

ส่วนใหญ่เราก็เรียกชื่อว่าแบงก์ทหารไทย กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร

ธนาคารจึงได้ทำเรื่อง Branding และเรื่อง Brand Awareness และมาโฟกัสว่า “ทีเอ็มบี”

และนั่นทำให้เราคุ้นกับคำว่าทีเอ็มบี หรือแบงก์ทีเอ็มบีมากขึ้น

ใครจะเชื่อว่าสถานะที่ง่อนแง่นของแบงก์พาณิชย์แห่งนี้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วจะพลิกมาเป็น “แบงก์คุณภาพ” ได้ในวันนี้

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จากตัวเลข 2 หลัก (15-16%)

ปัจจุบันลงมาเหลือหลักเดียว หรือประมาณ 2.99% (สิ้นปี 2558) และเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธุรกิจ

ในปี 2551 ทีเอ็มบีมีกำไรสุทธิ 424 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 พันล้านบาทในปี 2552 และปีถัดๆ มาก็เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปี 2558 มีกำไรเฉลี่ยไตรมาสละเกือบ 2.5 พันล้านบาท

หรือรวมทั้งปี มีกำไรสุทธิ 9.33 พันล้านบาท

ขณะที่นักวิเคราะห์จากหลายโบรกฯ ต่างยังมีมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการทีเอ็มบีในปี 2559 ว่า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และกำไรสุทธิจะพุ่งขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านบาท

ทีเอ็มบี ได้รับคำชมอย่างมากเกี่ยวกับตัวเลขสำคัญทางการเงินที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของธนาคาร

เช่น เงินกองทุนยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III

CAR หรือความพอเพียงของเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 16.7% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ที่กำหนดไว้ 8.5%

Tier 1 หรืออัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 11.3% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ที่กำหนดไว้ที่ 6%

รวมถึงสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Coverage Ratio เพิ่มขึ้นมาเป็น 142-143% และสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มธนาคาร หรือรองจากแบงก์กรุงเทพ หรือ BBL เท่านั้น

ทราบกันดีว่า คุณบุญทักษ์ ให้ความสำคัญการ “ตั้งการ์ด”ให้แน่นไว้ก่อน

กำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละปี หากดูในส่วนของกำไรจากการดำเนินงานจะพบว่า อยู่ในระดับสูง และเพิ่มขึ้นทุกปี

ทว่า เขาก็เลือกที่จะนำกำไรส่วนหนึ่งมาตั้งสำรองไว้ก่อน เพื่อปิดความเสี่ยงต่างๆ หรือรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ในส่วนของ ROE ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน และสร้างตัวเลขขึ้นมาอยู่เฉลี่ย 13-14%

เงินปันผลก็ยังคงจ่ายต่อเนื่อง ในทุกๆ ปี

สัญญาฉบับล่าสุดที่ไอเอ็นจี ทำกับคุณบุญทักษ์ นั้น จะหมดลงในสิ้นปี 2559 นี้

หากนับตั้งแต่ที่เขาเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2551 นั่นเท่ากับว่าคุณบุญทักษ์ อยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงสิ้นปีนี้ รวมเบ็ดเสร็จราวๆ 8 ปี 5 เดือน

มีการคาดกันว่า กลุ่มไอเอ็นจี อาจเริ่มกระบวนการสรรหาซีอีโอคนใหม่ในช่วงกลางปีนี้ครับ

หลังจากนั้น เมื่อได้แล้ว ก็จะให้ทำงานร่วมกับคุณบุญทักษ์ ไปประมาณ 5-6 เดือน ก่อนจะเริ่มรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในต้นปี 2560

วันนี้ ทีเอ็มบีมีความเข้มแข็งมาก

และเชื่อว่าในสิ้นปีนี้ ความเข้มแข็งก็จะมียิ่งขึ้นไปอีก

 

Back to top button