“เอไลฟ์” ปูทางเศรษฐีรับมือภาษีมรดกแนะแนวทางบริหารทรัพย์สินให้ลูกหลาน

“เอไลฟ์” ปูทางเศรษฐีรับมือภาษีมรดก แนะแนวทางบริหารทรัพย์สินให้ลูกหลาน


นายธัญญะ ซื่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ภาระ หรือ ภาษีมรดก” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการให้ความรู้แนวทางการรับมือกับภาษีมรดกที่จะเริ่มมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ ให้แก่ลูกค้า เพื่อเป็นแนวทางและสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการเตรียมความพร้อมรับมือและการบริหารแผนการเงิน และทรัพย์สินที่มีอยู่ในการส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างไม่มีภาระ

ทั้งนี้ในส่วนของทรัพย์สินที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดก ประกอบด้วย 5 ประเภท ได้แก่ 1.อสังหาริมทรัพย์ เช่นที่ดิน และบ้าน 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่นหุ้น และหน่วยลงทุน 3.เงินฝากในบัญชีธนาคาร หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่นรถยนต์ เรือยนต์ และเฮลิคอปเตอร์ 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา โดยทรัพย์สินใน 5 ประเภทดังกล่าวนี้จะต้องนำไปคำนวณเป็นทรัพย์สินมรดกที่ต้องเสียภาษี ถ้านับรวมกันแล้วเกิน 100 ล้านบาท ถึงจะเสียภาษีมรดก แต่จะเสียเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทเท่านั้น

“กรณีการจ่ายภาษีมรดกนั้นถ้าผู้ที่ได้รับเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเสียในอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% แต่หากในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นคู่สมรส หรือเจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แม้จะมีทรัพย์มรดกเกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี” นายธัญญะ กล่าว

ทั้งนี้ยังได้แนะนำแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือภาษีมรดกเพื่อเสนอแนะแนวทางการวางแผนบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ในการส่งต่อให้ลูกหลานได้อย่างไม่เป็นภาระ ด้วย 7 วิธี ซึ่งอันดับแรกควรต้องทำพินัยกรรมเพื่อส่งต่อทรัพย์สินได้อย่างถูกต้องและถูกใจเจ้ามรดก 2.โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตร 3.จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ร่วมในอสังหาริมทรัพย์ 4.จัดแบ่งทรัพย์สินให้ลูกหลานบางส่วน 5.จัดโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทในครอบครัว 6.จัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ และสุดท้าย 7.การทำประกันชีวิตโดยให้บุตรหลานเป็นผู้รับประโยชน์ เนื่องจากสินไหมทดแทนจากการทำประกันชีวิตไม่ใช่ทรัพย์มรดก ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษีมรดกจากเงินดังกล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ซึ่งมีมรดกเป็นจำนวนมากอาจจะวิตกกังวลต่อกฎหมายภาษีมรดกที่จะเริ่มบังคับใช้ 1 กุมภาพันธ์นี้ ว่าอาจจะสร้างภาระไว้ให้กับผู้ซึ่งต้องมารับมรดก โดยเอไลฟ์มีข้อแนะนำสำหรับวางแผนภาษีมรดก คือ การสำรวจทรัพย์สินและทำพินัยกรรม เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการวางแผนภาษีที่ง่ายที่สุดและไม่มีต้นทุน ซึ่งหากเรามีมรดกมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท สามารถวางแผนภาษี โดยการเขียนพินัยกรรมยกให้คู่สมรส เพราะไม่เสียภาษี หรือเขียนพินัยกรรมยกให้ลูกหลานคนละไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

นอกจากนี้การทยอยยกทรัพย์สินให้ลูกตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ โดยถ้าเป็นการโอนให้ก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2559 สามารถโอนได้ไม่จำกัด โดยไม่เสียภาษี แต่นับจากวันที่ 1 ก.พ. 2559 จะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะการโอนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ปีภาษี

สำหรับในส่วนของการยกทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ให้ลูกหลานก่อนในขณะที่เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่ หลายคนก็อาจจะไม่สบายใจเพราะกลัวว่าลูกหลานได้รับไปแล้วจะนำไปขาย หรือไม่ดูแล เราสามารถป้องกันได้โดย”จดสิทธิเก็บกิน”บนอสังหาริมทรัพย์นั้นไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ได้

โดยการทำประกันชีวิตโดยระบุให้ลูกหลานเป็นผู้รับประโยชน์ เงินสินไหมทดแทนกรณีที่เราเสียชีวิตก็ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดก โดยรูปแบบประกันแบบออมทรัพย์จะเหมาะสำหรับการวางแผนภาษีมรดก ซึ่งเป็นการส่งทอดทรัพย์สินให้ลูกหลาน และยังให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์อีกด้วย พร้อมยังแนะนำให้ซื้อแบบที่ชำระเบี้ยเบี้ยครั้งเดียว และเมื่อครบอายุก็ยังสามารถซื้อต่อไปเรื่อยๆได้อีกด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารภาษีมรดก

Back to top button