‘กลต.’ พาออกทะเลลูบคมตลาดทุน

วันนี้บรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นักลงทุน และคนในวงการตลาดเงิน-ตลาดทุน น่าจะทราบข้อมูลกันแล้ว


ธนะชัย ณ นคร

 

วันนี้บรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นักลงทุน และคนในวงการตลาดเงิน-ตลาดทุน น่าจะทราบข้อมูลกันแล้ว

กับประเด็นที่ก.ล.ต.จะออกกฎเกณฑ์ เหมือนกับพา “ออกทะเล”

นั่นคือ หากผู้บริหารของ บจ.ออกมาคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทว่าจะเติบโตเท่านั้น เท่านี้

และต่อมาภายหลัง บุคคลที่ก.ล.ต.อ้างว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิชาการของ ก.ล.ต.นั่นแหละ ประเมินกันออกมาแล้วว่า ไม่น่ามีความเป็นไปได้

บุคคลผู้ให้ข่าว หรือบริษัทจะผิดทันที มีบทลงโทษทางอาญา

เอากับเขาหน่อยสิ…..

ฟังแล้วก็ได้แต่ขำกลิ้งลิงกับหมา

นี่ยังบอกด้วยนะว่า สื่อมวลชนที่นำข่าวไปเผยแพร่ก็อาจจะโดนด้วย

บอกตรงๆ ว่า ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์นี้มา เหมือนกับมองว่า สื่อมวลชนโง่ดักดาน และนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็มีแต่พวกปัญญาอ่อน ไร้เดียงสา

เริ่มปุจฉาแรกกันก่อนเลย

หากผมเป็นผู้บริหารของ บจ. และมีกฎเกณฑ์บ้าจี้แบบนี้ออกมา

ยอมรับเลยว่า ผมก็ไม่กล้าให้ข่าว หรืออย่างมาก ก็จะบอกเพียงว่า ปีนี้ฉันจะทำแบบนี้ ลงทุนแบบนี้ ส่วนตัวเลขต่างๆ ฉันบอกไม่ได้นะ เดี๋ยวคุณพ่อก.ล.ต.เขาจะเคืองเอา

หากเกิดสถานการณ์แบบนี้จริงๆ นักลงทุนก็จะเหมือนกับเรือไม่มีหางเสือเลย

ทุกวันนี้ ผู้บริหารของ บจ.แต่ละแห่ง เวลาจะให้ข้อมูล เขาก็มีทีมวิจัย มีทีมลงทุนที่คอยประเมินแนวโน้ม หรือสถานการณ์ต่างๆ ไว้แล้วว่า บริษัทจะเติบโตอย่างไร

ไม่มีใครออกมากล่าวลอยๆ มั่วๆ พูดจาส่งเดชหรอกครับ

ทว่า อาจมีหลาย บจ.ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า เพราะอาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

ถามว่า หากเป็นแบบนี้ เขา “ผิดอาญา” ใช่ไหม

หรือหากผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง บอกว่า ปีนี้สินเชื่อจะเติบโต 10% แต่พอสิ้นปีเขาทำได้ 5% ถามว่า เขาผิด(อาญา) หรือเปล่า

หรือผู้บริหารของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่บอกว่า ปีนี้จะเติบโตแบบนี้นะ

แต่พอเอาเข้าจริงทำไม่ได้ คุณกล้าไปลงโทษเขาไหม

หรือจะเลือกลงโทษเฉพาะผู้บริหาร บจ.บริษัทเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีอำนาจการต่อรองอะไร

หรือกรณีที่อาจมีการให้ข่าวเกี่ยวกับการคาดการณ์ผลประกอบการ และพูดเกินเลยความจริง

สื่อมวลชนไม่โง่นะครับ และก็ไม่ได้มีความรู้ด้อยพัฒนาขนาดนั้น

ทุกวันนี้ ข่าวแต่ละข่าว เมื่อมีการให้ข่าวจากแหล่งข่าว เราก็มีการประเมินกันในขั้นแรกว่า เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

หากพิจาณาดูแล้วว่า ไม่น่าจะใช่ เราก็ไม่ลงครับ หรือพิจารณาแล้วโอกาสมันอาจจะ 50:50 เราก็มีวิธีการพาดหัวข่าว เช่น “ฟุ้ง” หรือ “เว่อร์”

หรือคำอื่นๆ ที่ให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ข้อมูลนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นจริง

ในด้านของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยทุกวันนี้ก็เก่งนะครับ แถมฉลาดด้วย

ไม่ใช่พอรับข่าวแล้วก็เชื่อ รุมแย่งกันซื้อหุ้นตัวนั้นๆ

นักลงทุน(รายย่อย) ต่างทำการบ้านกันมาอย่างดี เวลาจะซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง

และพวกเขาก็รู้จักการประเมินความเสี่ยงด้วย ว่าหุ้นตัวไหน เล่นเก็งกำไร หุ้นตัวไหนต้องซื้อแล้วเข้าเร็ว ออกเร็ว หรือหากออกช้า แล้วติดดอย เขาก็รับสภาพ

ผู้บริหารระดับสูงของโบรกฯ แห่งหนึ่งเคยบอกไว้ครับ

ทุกวันนี้ ราย่อยของเราเทรดหุ้นกันเก่งมาก แถมชนะฝรั่งอีก

หลายๆ ครั้งที่ฝรั่งต้องขาดทุนกลับไป เพราะนักลงทุนรายย่อยของเราเก่งขึ้นนี่แหละ

การเข้มงวดการให้ข้อมูลของ บจ.กับสื่อมวลชน ผมไม่แน่ใจว่า รวมไปถึงการไปพูดในงานออฟเดย์ด้วยหรือไม่ เพราะมีสื่อมวลชนไปร่วมนั่งฟังด้วย

หรือการที่นักวิเคราะห์ไป Company visit กับบริษัทต่างๆ ซึ่งผู้บริหารของ บจ.จะให้ข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน

หรือกฎหมายฉบับนี้จำกัดเฉพาะกับการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเท่านั้น

 

Back to top button