ยุบพรรคปราบโกงทายท้าวิชามาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลื้มอกปลื้มใจผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นโลก ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งไทยได้ 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 ขยับจากเดิม 9 อันดับ


ใบตองแห้ง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลื้มอกปลื้มใจผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นโลก ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งไทยได้ 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 ขยับจากเดิม 9 อันดับ

แต่ก็มีคนแย้งว่าคะแนนเท่าเดิมนะครับ และการจัดอันดับนี้ไม่ได้มาจากอื่นไกล เป็นผลสำรวจของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใส ซึ่ง อ.จุรี วิจิตรวาทการ อดีต สปช.และ 1 ใน 21 กรธ.เป็นเลขาธิการ

ท่านนายกฯ ยังเป็นปลื้มกับผลสำรวจคอร์รัปชั่นของ ม.หอการค้าไทย ว่าปี 2558 ดีที่สุดในรอบ 6 ปี ลดจากปี 2553-2556 ที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย 25-35% คิดเป็น 2-3 แสนล้านบาท เหลือ 1-15% ในปี 2558 คิดเป็น 1 แสนกว่าล้านบาท

ที่จริงจะแย้งก็ได้ว่า ม.หอการค้าไทยร่วมมือกับรัฐบาลดีมาก อ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ก็เข้าไปเป็นบอร์ดกองสลาก แต่เอาเถอะ ถ้าถามว่ารัฐบาล คสช.มีปัญหาคอร์รัปชั่นน้อยกว่านักการเมืองไหม ผมก็เชื่อว่าน้อยกว่า เพียงมีข้อสังเกตว่า หนึ่ง เราไม่ได้อยู่ในยุคที่มีเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการร้องเรียน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เราอยู่ในยุคที่ประชาชนต้องเชื่อฟัง แล้วรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีการทุจริตจริง

สอง ถ้าบอกว่า ม.44 ได้ผล ทำไมยังมีทุจริตเป็นแสนล้าน ทำไมคะแนนยังเท่าเดิม ทำไมผลสำรวจ ม.หอการค้าไทยบอกว่าปีหน้าก็ยังจะมีทุจริต 1-15% เช่นเดิม

สาม เลวร้ายที่สุดคือการสร้างทัศนะผิดๆ ต่อการ “ปราบโกง” ผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนมากพยายามทำให้สังคมไทยเชื่อว่า ระบอบปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ถูกตรวจสอบ ปิดกั้นเสรีภาพปราบคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าประชาธิปไตย

ทั้งที่จริง ความสำเร็จของ คสช.เป็นแค่ชั่วคราว คสช.เข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง ก็ต้องเอาจริงเอาจังสร้างผลงานในเรื่องที่ตัวเองกล่าวหานักการเมืองไว้

ถ้าย้อนไปดูรากเหง้า การทุจริตในไทยก็เบ่งบานยุคเผด็จการทหาร เพราะเป็นระบอบรวบศูนย์อำนาจ ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน การเดินหน้าต้านทุจริต จึงต้องเน้นลดอำนาจรัฐ ลดอำนาจตัดสินใจ กระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาไม่ว่าระบอบไหน (แต่ประชาธิปไตยยังแฉได้) เหมือนที่มีกลุ่มประชาชนไปร้องเรียนว่าการที่ คสช.ให้สิทธิพิเศษองค์การทหารผ่านศึกเป็นคู่สัญญาโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ 8 พันล้านบาททำให้มีคนแอบอ้างเรียกค่าหัวคิว

แต่ตอนนี้ ผู้มีอำนาจ ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม กลับพยายามปลูกฝังความคิดว่า การปราบทุจริตที่ได้ผลอยู่ที่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของคนดี ผู้มีจริยธรรมสูง โดยไม่ต้องอยู่บนความตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่ต้องอยู่บนสิทธิเลือกตั้ง อำนาจตรวจสอบของเจ้าของประเทศ อย่าเชื่อประชาธิปไตย เพราะ 2475 ทำให้เกิดโกง

กรธ.ที่มี อ.จุรีอยู่ด้วยจึงร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาล องค์กรอิสระ เป็นผู้วิเศษปราบโกง ซึ่งเอาเข้าจริงก็คือมีอำนาจล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา โดยไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ต่างกับยุบพรรคเพียงเพราะกรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง ยุบพรรคเพียงเพราะกรรมการบริหารพรรคจ้างพรรคเล็ก “ผิดคนเดียวเหมาเข่ง” แต่ตอนนี้คดีโอละพ่อ ยุบพรรคไปแล้วศาลฎีกายกฟ้อง

นักการเมืองโกงจริง ไม่เถียงเลย แต่ถ้าปราบโกงโดยใช้อำนาจไม่ยุติธรรมก็ไม่รู้ใครโกงกว่า และเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถขจัดโกง เพียงเปลี่ยนข้างโกง เช่นการยุบพรรคสลับขั้วการเมืองในสมัยหนึ่ง ก็ทำให้นักการเมืองบางกลุ่มมีอำนาจต่อรองสูงลิ่วเป็นที่รู้ทั่วกัน 

                                                                                                

Back to top button