QTC กำไรก้าวกระโดด

ทิศทางผลการดำเนินงานปี 2558 ของ QTC เป็นไปตามคาดหวังของนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักที่การันตีว่ามีความโดดเด่น เนื่องจากเป็นปีที่มีงานส่งมอบหม้อแปลงให้กับโครงการโรงไฟฟ้าค่อนข้างเยอะขึ้น ประกอบกับมีงานจากภาครัฐเข้ามา นอกจากนั่น บริษัทมีการบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นจากโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่


–คุณค่าบริษัท–

 

ทิศทางผลการดำเนินงานปี 2558 ของบริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เป็นไปตามคาดหวังของนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักที่การันตีว่ามีความโดดเด่น เนื่องจากเป็นปีที่มีงานส่งมอบหม้อแปลงให้กับโครงการโรงไฟฟ้าค่อนข้างเยอะขึ้น ประกอบกับมีงานจากภาครัฐเข้ามา นอกจากนั่น บริษัทมีการบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นจากโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่

อานิสงส์ดังกล่าวส่งผลให้ ผลการดำเนินงาน สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ใกล้เคียงระดับสูงสุดนับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาด โดยผลรายได้รวมจากการขายและบริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,229.20 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 760.50 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 120.23 ล้านบาท หรือ 0.60 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 55.30 ล้านบาท หรือ 0.28 บาทต่อหุ้น

ที่สำคัญก็คือ เมื่อวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญในการตัดสินใจต่อการลงทุนในอนาคต พบว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงดูดี เพราะสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 733.70 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 484.89 ล้านบาท ได้ค่า Current Ratio อยู่ที่ระดับ 1.52 เท่า แสดงว่า บริษัทยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่

ขณะที่ปัญหาหนี้สินไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แม้บริษัทมีหนี้สินรวม 495.41 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น 571.30ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า แสดงว่า ปัญหาหนี้สินของบริษัทยังไม่ได้รบกวนการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งบริษัทกลับมาทำกำไรได้อย่างก้าวกระโดด

สำหรับในปี 59ทางบริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ระดับ 1,200 ล้านบาท หลังจากปี 59 ทำผลงานได้อย่างสดใส และปี 2560 ที่ระดับ 1,500 ล้านบาท ตามลำดับ โดยบริษัทฯ จะเดินหน้าร่วมประมูลงานต่อเนื่อง ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากงานภาครัฐประมาณ 25% ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ส่วนงานภาคเอกชนอีกประมาณ 55% มาจากการขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับธุรกิจพลังงานทดแทน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โครงการคอนโดมิเนียม ที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจอื่นๆ

ส่วนที่เหลือเป็นส่งออกประมาณ 20%จากการส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี่ และสิงคโปร์ รวมทั้งตลาดญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง เนื่องจากบริษัทได้รับการยอมรับจากประเทศญี่ปุ่นในเรื่องของการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน และคาดว่าในอนาคตตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มความต้องการหม้อแปลงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียหายทำให้เสียกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า ญี่ปุ่นจึงได้มีการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนขึ้น ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่นักวิเคราะห์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส ยังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยให้ราคาพื้นฐาน 6.32 บาท ซึ่งใช้ P/E ปี 2559 ที่ 11.5 บาท ซึ่งเงินปันผลยังจูงใจที่ 5.5% รวมถึงโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังโรงไฟฟ้า จะเป็นปัจจัยที่หนุนให้บริษัทซื้อขายใน P/E ที่สูงขึ้นได้ เมื่อมีรายละเอียดและความเป็นไปได้ที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

1.น.ส.ศศิกาญจน์ ตันธนสิน 45,000,000 หุ้น 22.50%

2.นายพัชรพงศ์ ตันธนสิน 41,716,000 หุ้น 20.86%

3.นางอลิศรา เจริญวานิช 36,627,600 หุ้น 18.31%

4.MAYBANK KIM ENG SECURITIES PTE. LTD. 9,096,000 หุ้น 4.55%

5.นายวรพจน์ หิรัณย์ภิวงศ์ 3,000,000 หุ้น 1.50%

 

รายชื่อกรรมการ

1.นาย สมชอบ ไชยเวช ประธานกรรมการ

2.นาย สมชอบ ไชยเวช กรรมการอิสระ

3.นาย พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร

4.นาย พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน กรรมการผู้จัดการ

5.นาย ศิริพงศ์ บุญตาม กรรมการ

Back to top button