กลต.-ล้อมคอกลูบคมตลาดทุน

ในหลายมาตรการที่คณะกรรมกรรกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ได้ออกมา และกำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ก็ถือว่าดี


ธนะชัย ณ นคร

 

ในหลายมาตรการที่คณะกรรมกรรกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ได้ออกมา และกำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ก็ถือว่าดี

แม้บางกฎเกณฑ์จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็เหอะ

อย่างวานนี้ก็มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายหุ้นไอพีโอ

เช่น การจัดสรรหุ้น ไอพีโอให้กับผู้มีอุปการคุณและ RP ต่อไปจะต้องรวมกันได้ไม่เกิน 25%

จากก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนไว้

ทำให้หุ้นไอพีโอหลายๆ ตัว นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรแบบกรณีพิเศษ มีดสัดส่วนมากขึ้น 35-40% จำนวนหุ้นไอพีโอที่นำออกมาขายทั้งหมด

มีเกณฑ์หนึ่งที่มีการปรับ คือ ลดระยะเวลาการรายงานผลการขายหุ้นไอพีโอ จากเดิมภายใน 45 วันเป็นภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันปิดการเสนอขายหุ้น

นี่ก็ถือว่าดีเหมือนกัน

และอีกข้อที่สำคัญคือ การขยายระยะเวลาห้ามไม่ให้บริษัทที่จะนำหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าไอพีโอให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจง หรือ PP

เดิมนั้นกำหนดไว้ 90 วัน ก่อนการเสนอขายหุ้นไอพีโอครับ

ก็เปลี่ยนมาเป็นเป็น 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือนนั่นแหละ ก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นไอพีโอ

เกณฑ์หลังนี้นักลงทุนรายใหญ่ หากใครได้รับการจัดสรรหุ้นแบบ PP คงนั่งตบยุงไปหลายเดือน

เป้าหมายที่กำหนดใหม่ก็เพราะไม่ต้องการให้วันแรกที่มีการซื้อขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ราคามีความผันผวนมากเกินไป

และเพื่อสร้างความเมท่าเทียม(มากขึ้น) ในกลุ่มนักลงทุน

แม้เกณฑ์เหล่านี้จะมาช้าซักหน่อย

แต่ก็ดีกว่าไม่มานะ

เช่นเดียวกับที่ ก.ล.ต.กำลังปรับเพิ่มโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ที่ใช้ข้อมูลภายใน หรือทำทุจริต

เรื่องนี้ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559

แต่เชื่อไหม แม้ว่าบทลงโทษ หรือการปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น หากคนต้องการที่จะหลีกเลี่ยงเกณฑ์เหล่านี้ ก็สามารถทำได้  ด้วยการพยายามหาช่องว่างช่องโหว่กันไป

กรณีการจัดสรรหุ้นไอพีโอนั้น ทราบกันดีว่า โอกาสที่นักลงทุนรายย่อยที่ไปจองตามธนาคาร หรือจุดที่เขาให้จองซื้อนั้น แทบจะได้ไม่รับการจัดสรรกันหรอก

หากอยากได้จริงๆ ก็ต้องเสี่ยงเข้าไปเล่นวันแรกที่เทรดนั่นแหละ

หรือไม่ก็ หากใครเป็นลูกค้าของโบรกฯ ที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน(FA) หรืออันเดอร์ไรเตอร์ ก็ต้องมียอดเทรดเฉลี่ยต่อวันสูงๆ หรือไม่ก็ต้องเป็นลูกค้ากันมานาน

ไม่อย่างนั้นจัดสรรมาไม่ถึง

กองทุน รายใหญ่ นอมินีของเจ้าของ ฯลฯ ฟาดเรียบ

หรือหากนักลงทุนรายย่อยได้รับจัดสรร(จับยัดใส่มือ)มาถึงตัวเอง ทั้งที่ยอดเทรดไม่มากนัก ก็ให้ฟันธงไปเลยว่าหุ้นนั้นๆ เปิดขายวันแรก ต่ำจองแน่นอน

อีกกฎเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำลังศึกษาอยู่ก็คือการให้ข้อมูลของผู้บริหาร บจ.

เรื่องนี้หากถามผู้บริหารโบรกฯ “สายบุ๋น” ก็จะบอกว่าดี เหมาะสม

แต่หากไปถามกลุ่ม “สายบู๊” ก็ส่ายหน้าครับ ก๊วนใครก๊วนมัน แนวทาง ความคิดแตกต่างกันไปในวงการโบรกฯ

แต่เรื่องนี้ก.ล.ต.ต้องพิจารณาให้รอบคอบที่สุด  เพราะอย่างที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เคยนำเสนอข่าวเรื่องนี้ไปแล้วว่า น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุนมากกว่าการส่งเสริม

นักลงทุนคงฟ้อง นักวิเคราะห์ ฟ้องสื่อ กันวุ่นวายไปหมด

โอกาสที่นักลงทุนรายย่อยจะเข้าถึงข้อมูลอาจมีน้อยลง เพราะผู้บริหาร บจ.อาจระวังการให้ข้อมูลมากขึ้น นักวิเคราะห์ ก็อาจนำข้อมูลมาเผยแพร่ได้น้อยลง

กองทุน นักลงทุนรายใหญ่ อาจได้รับประโยชน์ เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริหาร บจ.ได้

อีกเรื่องที่อาจจะดูเหมือนยังเป็นปัญหา(หรือเปล่า) นั่นคือ เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างหุ้นตัวใหญ่ กับหุ้นตัวเล็กๆ(หรือไม่) เช่น หากผู้บริหารบจ.ขนาดใหญ่ออกมาพูดถึงแนวโน้มผลประกอบการ ก็มักไม่ค่อยมีปัญหา

แต่หากเป็นบริษัทขนาดเล็ก เหมือนจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

หรืออย่างวันก่อนหน้า หุ้น “การบินไทย” มีข่าวเกี่ยวกับผลประกอบการออกมา

นี่หากเป็นหุ้นเล็กๆ ก็อาจถูกขึ้นเครื่องหมาย “H” หรือพักการซื้อขายไปแล้ว

ต้องระวังและอย่าให้ถูกมองว่าสองมาตรฐาน

 

Back to top button