ธ.ก.ส. จัดงบฯ หนุน SME ภาคการเกษตรเพิ่มขีดความสามารถ-มาตรการช่วยภัยแล้ง

ธ.ก.ส.จัดงบฯ หนุน SME ภาคเกษตร เพิ่มขีดความสามารถ-มาตรการช่วยภัยแล้ง


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรกรและมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดย ธ.ก.ส. ประกอบไปด้วย โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEs เกษตร (SMAEs) เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวม 72,000 ล้านบาท โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้งวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งปี 2558/2559 อีก 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการสนับสนุนโครงการสินเชื่อ1 ตำบล 1 SMAEs ตามที่ครม.มีมติให้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน รวมถึงในการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรในกระบวนการผลิต การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการ ในวงเงิน  72,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล

โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ภาคการเกษตร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชน ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือกิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน และการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนในกระบวนการผลิต การรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจหรือกิจการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้ประกอบการ SMAEs โดยกำหนดวงเงินกู้รายละ ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตั้งแต่ปีที่ 1-7 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 8 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคาร และกำหนดให้สินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560  โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยทั่วประเทศให้เป็นผู้ประกอบการ SMEs เกษตร กว่า 7,305 ราย หรืออย่างน้อย  1 ตำบล ต้องมีผู้ประกอบการ SME เกษตร 1 ราย

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ในการผลิตการเกษตรตามมาตรฐานคุณภาพที่มีตลาดรองรับ สนับสนุนเงินทุนแก่ชุมชนในการจ้างผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตและให้เกิดการบริหารจัดการภายในชุมชน เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่การปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรและพัฒนาสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรให้มีศักยภาพเพียงพอเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบวิกฤติภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตและรายได้ของเกษตรกร

โดยดำเนินการในลักษณะเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ระหว่างชุมชนกับผู้รับซื้อผลผลิต เพื่อที่เกษตรกรจะไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักการดำเนินการในรูปแบบของการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐและประชาชนภายใต้กรอบแนวคิด “ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากการผลิตพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกร ในเบื้องต้นได้กำหนดประเภทผลผลิตไว้ 6 ชนิด ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง) ผักคะน้า กวางตุ้ง  เห็ดฟาง เมล่อนและหญ้าเนเปียร์ แต่สำหรับผลผลิตอื่นๆ หากชุมชนจะดำเนินการจะต้องมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน

สำหรับโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวนวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท ต่อชุมชน คิดดอกเบี้ยจากชุมชนในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างแทนชุมชน กำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันกู้ วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท โดยให้แต่งตั้งพนักงานประจำสำนักงาน ธ.ก.ส.ทุกจังหวัดและสาขา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ (Mr. XYZ) ทำหน้าที่ดูแล ติดตาม และกำกับการดำเนินงานโครงการในแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้ ดังนี้ รายได้ = (X+Y+Z) โดยที่ X  คือ รายได้จากค่าเช่าที่ดินเพื่อการผลิต Y  คือ รายได้จากค่าจ้างแรงงานการผลิต และ Z  คือ เงินปันส่วนให้แก่สมาชิกตามโครงการหลังจากหักค่าใช้จ่ายของชุมชน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้ออกโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 50 จากรายได้ปกติ และลูกค้ามีวงเงินกู้รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 500,000 ราย ให้กู้ได้รายละไม่เกิน 12,000 บาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 – 30 มิถุนายน 2559  ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก เดือนที่ 7- 12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันกู้ สามารถใช้หลักประกันรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันหรือใช้บุคคล 2 คนขึ้นไปค้ำประกันหนี้เงินกู้โครงการนี้ได้ไม่เกิน 12,000 บาท

Back to top button