ต้องโทษใครที่ทำให้ตลาดวุ่นวาย?

ตลาดหุ้นทั่วโลกติดตัวแดงในปีนี้ท่ามกลางการปรับตัวลงของหุ้นทั่วโลก แต่อะไรที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้? แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯได้เตือนถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯหรือแม้แต่เศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่มีสัญญาณที่ชัดเจนเพียงเล็กน้อยที่ชี้ถึงผลกระทบนั้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมหุ้นจึงปรับตัวลงรวดเร็วขนาดนั้น? จากการประเมินของซีเอ็นบีซี ผู้ต้องสงสัยหลักๆที่อยู่เบื้องหลังความผันผวนในตลาดหุ้นในปีนี้มีดังต่อไปนี้


ธนาคารกลางญี่ปุ่น

การเคลื่อนไหวอย่างไม่คาดคิดของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ได้นำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และทำให้เกิดความวิตกว่าการคิดดอกเบี้ยกับธนาคารที่ฝากเงินไว้กับธนาคารกลางจะกระทบกำไรของธนาคาร

ธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็ได้แสดงความสงสัยว่า การนำดอกเบี้ยติดลบมาใช้ อาจเร่งให้ธนาคารกลางแข่งกันลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก จนเข้าสู่แดนลบ ซึ่งยิ่งเติมเชื้อเพลิงเข้าไปอีก

แกรนต์ ปีเตอร์คิน ผู้จัดการพอร์ตรายได้คงที่อาวุโสของบริษัท ลอมบาร์ด โอเดียร์ อินเวสเมนต์ แมเนเจอร์ กล่าวว่า ในขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ย และไม่ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณอีกต่อไป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรปได้ผลักดันให้ดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น และนั่นคือการตั้งสัญญาณเตือนในตลาด

“ในความเป็นจริง  การผ่อนคลายเชิงปริมาณได้ทำให้เราเดินหน้าหรือทำให้เราจำเป็นต้องมีดอกเบี้ยติดลบเพิ่มอีกใช่หรือไม่? ผมคิดว่านักลงทุนกำลังกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับระดับผลตอบแทนและกำลังทำกำไร แต่ก็จะยังคงมีความผันผวนที่ธนาคารกลางกำลังเร่งให้มันรุนแรงมากขึ้นต่อไป”

เพราะการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีอายุไถ่ถอน 10 ปี เคลื่อนเข้าสู่แดนลบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

ธนาคารกลางยุโรป

สปอร์ตไลต์กลับมาส่องที่ภาคการเงินของยูโรโซนหลังจากที่ธนาคารในภูมิภาคขอให้ธนาคารใหญ่ของอิตาลีให้ข้อมูลเกี่ยวกับพอร์ตสินเชื่อที่ไม่ก่อรายได้ ซึ่งยังคงมากอยู่  ทั้งธนาคารและผู้กำหนดนโยบายของอิตาลียืนยันว่าไม่ควรเป็นกังวลต่อการให้ข้อมูลนี้ แต่หุ้นธนาคารอิตาลีก็ยังปรับตัวลง   นับตั้งแต่ต้นปีนี้ หุ้นยูนิเครดิต และอินเทซา ซานเปาโล สองธนาคารที่มีมูลค่าตลาดมากสุดของอิตาลี ได้ปรับตัวลงประมาณ 43% และ 28% ตามลำดับ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความวิตกเกี่ยวกับธนาคารทั่วยุโรปได้เพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะว่าภาคธนาคารมีความเสี่ยงต่อการปรับตัวลงของราคาพลังงาน

จอห์น ไครอัน ซีอีโอร่วมของดอยช์ แบงก์ ได้เร่งออกมาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและพนักงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเกี่ยวกับเสถียรภาพของธนาคาร แต่คำพูดของเขา ช่วยหนุนหุ้นดอยช์ แบงก์ แค่ชั่วคราว

เกรก อีเรียม นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของบริษัทโออันดา กล่าวว่า  เนื่องจากวิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังคงอยู่ในความทรงจำ มีความวิตกจริงๆว่าธนาคารจะเจอความท้าทายมากในปีนี้ นอกจากนี้ การฟื้นตัวในยูโรโซนอาจถูกคุกคามจากความอ่อนแอที่เกิดขึ้นมาใหม่ในภาคธนาคารและจากความแห้งแล้งของสินเชื่อ

 

น้ำมันดิบ

การปรับตัวลงของราคาน้ำมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ราคาน้ำมันดิบไลต์  WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนต์ เริ่มปรับตัวลงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่ความหวังของนักวิเคราะห์ที่ปี 2559 อาจจะได้เห็นราคาน้ำมันจะฟื้นตัวกลับมา ได้ดับไปในเดือนมกราคมเมื่อน้ำมันทั้งสองชนิดปรับตัวลงทำนิวโลว์ โดยลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อหุ้นที่มีความเสี่ยงในภาคพลังงาน และมีสาเหตุส่วนหนึ่งเพราะดีมานด์จากจีนลดลงเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศเตือนว่า ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกจะโตลดลงมากในปีนี้

 

ผู้กำหนดนโยบายของจีน

เศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกได้ชะลอตัวลงอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2553 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่ำสุดในรอบ 25 ปี โดยโตเพียง 6.9% ในปี 2558 แม้ว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถฝันเอาได้เท่านั้น แต่นักวิเคราะห์ได้แสดงความวิตกมานานแล้วว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานโดยทางการจีนเป็นตัวเลขที่มองในด้านบวกมากเกินไป

ขณะเดียวกันมีความวิตกเกิดขึ้นมาใหม่เมื่อปีที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่จีนอาจจะบริหารตลาดการเงินของประเทศผิดพลาด  ความวิตกเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมีการแทรกแซงในตลาดหุ้นและมีการลดค่าเงินหยวนท่ามกลางความวุ่นวายในตลาดหุ้นจีนซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก  การที่เจ้าหน้าที่จีนมีคำอธิบายน้อยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านนโยบายยิ่งทำให้นักลงทุนวิตกมากขึ้น

หุ้นจีนได้ปรับตัวลงอีกในปีนี้ โดยการนำมาตรการ เซอร์กิต เบรกเกอร์มาใช้ในตลาด ยิ่งทำให้มีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับผลสำรวจที่ลดลงในภาคผลิต และยิ่งทำให้เงินหยวนอ่อนตัวลงไปอีก

Back to top button