ปรับฐาน(ครั้งใหม่)พลวัต 2016

วันหยุดชดเชยแรงงานทั่วโลกวานนี้ ไม่มีความหมายใดจะหยุดยั้งการปรับฐานแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกได้ หลังจากที่ราคาน้ำมันที่พุ่งแรงต่อเนื่องกันนานหลายสัปดาห์เริ่มไปต่อไม่เป็น ปรับตัวลงเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อวานนี้


วิษณุ โชลิตกุล 

                 

วันหยุดชดเชยแรงงานทั่วโลกวานนี้ ไม่มีความหมายใดจะหยุดยั้งการปรับฐานแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกได้ หลังจากที่ราคาน้ำมันที่พุ่งแรงต่อเนื่องกันนานหลายสัปดาห์เริ่มไปต่อไม่เป็น ปรับตัวลงเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อวานนี้

ดัชนีนิกเกอิของตลาดโตเกียววานนี้ หลุดแนวรับอย่างหมดสภาพ (หลังจากหยุดยาว 3 วัน) ติดลบกว่า 500 จุด จากข่าวร้ายที่ทับถมและแรงเทขายอย่างหนักจาก พิษของดอลลาร์อ่อน เยนแข็ง และดัชนีเศรษฐกิจที่เปราะบาง ส่งสัญญาณว่าขาขึ้นต้องรอไปอีกนานหลายวันหรือสัปดาห์

ยามนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักของตลาดวอลล์สตรีทที่เคยกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะกระทิงใหญ่ครั้งที่สองของวอลล์สตรีท” จำต้องกลืนน้ำลายลงคออย่างช่วยไม่ได้ ในเมื่อดัชนี S&P 500 ได้ยืนยันชัดเจนว่าไม่สามารถจะทำนิวไฮครั้งใหม่ได้

ถึงแม้ว่าผลประกอบการของ S&P 500 จำนวนไม่น้อยดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ผลประกอบการของส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ระดับ 9.2% ต่อไป

ดัชนี S&P 500 ไม่สามารถจะฝ่าแนวต้านขึ้นไปยืนเหนือ 2,100 จุดได้ หลังจากที่ได้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ประมาณ 15% แถมยังส่งสัญญาณปรับฐานที่ชัดเจน

แรงสนับสนุนอย่างนโยบายการเงินของเฟดที่ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นและผลประกอบการบริษัทที่คำนวณใน S&P 500 ดีเกินคาด ซึ่งเคยทำให้ ตลาดหุ้นมีความคึกคักมากในสัปดาห์ก่อนหน้า และยังผลให้ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มีมูลค่าสูงเกินจริงจากพื้นฐานค่อนข้างมาก ในการเป็นประเด็นที่ทำในราคาหุ้นปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องกันสองวัน ส่งสัญญาณการปรับตัวลงที่ชัดเจน 

โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดแนสแดก ที่ต้องเผชิญคำถามที่ตอบยากเกี่ยวกับความสามารถทำกำไรในอนาคต หลังจากแอปเปิ้ลเริ่มถอยหลังชัดเจน

คำถามที่สำคัญสุดยามนี้ วนเวียนมาครั้งใหม่ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นอาคารที่เหมาะสมหรือ ราคาฟองสบู่ จากแรงเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์กันแน่

การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในอนาคต สวนทางกับราคาน้ำมันที่วิ่งขึ้นอย่างรุนแรง คำ ถามว่าปริมาณน้ำมันจากกลุ่มโอเปกและนอกโอเปคที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากสวนทางกับ จำนวนฐานขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯที่ลดลงเพียงเล็กน้อยจะผลักดัน น้ำมันให้เดินหน้าเหนือ 45 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลไปได้นานสักแค่ไหน

นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันดิบตั้งคำถามว่า ตัวเลขจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐฯที่ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน จนถึงสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมา สู่ระดับ 332 แท่นของบริษัท เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการแก่อุตสาหกรรมน้ำมัน ไม่สามารถเทียบได้เลยกับตัวเลขผลผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่เพิ่มขึ้น 484,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 33.217 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนเมษายนทีผ่านมา และคาดว่ายังจะเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้อีก หากแนวโน้มการประชุมหาทางออกจากวิกฤติน้ำมันล้นตลาดโลกยังไม่มีข้อยุติ

ปัจจัยบวกที่เคยดันราคาน้ำมันดิบของโลกใน 2 เดือนมานี้ให้วิ่งแรงเกือบ 50% จากจุดต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ มี 3 ปัจจัยเท่านั้น คือ 1) การเจรจาตรึงกำลังการผลิตของชาติส่งออกน้ำมันดิบ 2) ค่าดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงจากมาตรการของเฟด 3) ตัวเลข จำนวนฐานขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯที่ลดลงต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเหล่านี้ เริ่มถูกตลาดซึมซับไปจนเกือบหมดพลังแล้ว

การซื้อขายในตลาดน้ำมันวันศุกร์ค่อนข้างผันผวนทั้งราคาและปริมาณ ส่งสัญญาณแสดงการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขายในการเก็งกำไร โดยในช่วงแรกราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นราคาน้ำมันกลับมาปรับตัวลดลง เพราะได้รับแรงกดดันจากผลสำรวจที่เผยให้เห็นว่า ผลผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี ราคากลับมาดีดตัวขึ้นอีกครั้ง จนเกือบทำให้ตลาดปิดแดนบวก หลังมีการเปิดเผยข้อมูลแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน

นักวิเคราะห์ธุรกิจน้ำมันดิบของ Commerzbank AG แห่งเยอรมนี BNP Paribas SA ของฝรั่งเศส และ UBS Group AG ของสวิส วิเคราะห์ตรงกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในสองเดือนที่ผ่านมานั้นมีลักษณะของทิศทางที่คล้ายคลึงกับกลางปีก่อนหน้านี้ก่อนที่จะพังทลายในเดือนพฤษภาคมปีนั้น พวกเขา ระบุตรงกันว่าหลังจากนี้ไปโอกาสที่ราคาน้ำมันจะดึงตัวกลับลงไปที่ระดับสาม 10 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ภายในสี่สัปดาห์หน้า มีความเป็นไปได้

นักวิเคราะห์ของทั้งสามธนาคาร ระบุว่า การวิ่งขึ้นราคาน้ำมันในสองเดือนมานี้มีลักษณะเช่นเดียวกับการพยายามเล่นสกีบนแม่น้ำ และเป็นขาขึ้นเทียมที่ไม่มีทางยั่งยืน เนื่องจากเป็นการวิ่งขึ้นที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของอุปสงค์และอุปทานของตลาด

บทวิเคราะห์ระบุตรงกันว่า สถาบันน้ำมันนานาชาติ หรือ IEA มองเราในโลกสวยเกินสมควรเมื่อกล่าวว่าอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบมีโอกาสที่จะเกิดดุลยภาพได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ข้อ เท็จจริงที่ว่าอุปทานของน้ำมันดิบที่ขุดออกมาในตลาดยังมีจำนวนมากกว่าอุปสงค์ของตลาดอย่างมาก และราคาน้ำมันก็ไม่ได้ร่วงลงไปจนจูงใจให้ผู้ซื้อบริโภคมากขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญ แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯที่ปิดลลงชั่วคราว ยังสามารถที่จะพลิกกลับมาผลิตใหม่ได้ภายในไม่กี่สัปดาห์เสมอ หากว่าราคาน้ำมันยังวิ่งขึ้นไปเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งหัวลงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

บทวิเคราะห์ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อตลาดน้ำมันไม่ใช่น้อย เพราะราคาน้ำมันที่ติดลบ 2 วันทำการรวดจนถึงคืนที่ผ่านมา น่าจะเริ่มเป็นปัจจัยลบต่อทิศทางของหุ้นพลังงานและตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วงเวลาต่อไป

สัญญาณของตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นนี้ ไม่ใช่ปัจจัยบวกของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ที่มีวันหยุดยาว และเทรดกันแค่ 2 วันเท่านั้น ส่วนจะเป็นปัจจัยลบแค่ไหน นักลงทุนต้องใช้ดุลยพินิจส่วนตัวให้มากเป็นพิเศษ

 

Back to top button