เปลี่ยนม้ากลางลำธารพลวัต 2016

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมานได้ผ่านการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศ และของภูมิภาคตะวันออกกลาง หรืออาจจะของโลกไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อออกจากปมปัญหา 2 ด้านที่เผชิญหน้ากับซาอุดีอาระเบียมานานหลายปี นั่นคือ 1) ภาพลวงตาของวงจรเศรษฐกิจขึ้นแรง-ลงแรง (Boom-Bust Cycle) 2) คำสาปของชาติที่มั่งคั่งทางด้านทรัพยากร


วิษณุ โชลิตกุล

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมานได้ผ่านการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศ และของภูมิภาคตะวันออกกลาง หรืออาจจะของโลกไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อออกจากปมปัญหา 2 ด้านที่เผชิญหน้ากับซาอุดีอาระเบียมานานหลายปี นั่นคือ 1) ภาพลวงตาของวงจรเศรษฐกิจขึ้นแรง-ลงแรง (Boom-Bust Cycle) 2) คำสาปของชาติที่มั่งคั่งทางด้านทรัพยากร

การตัดสินใจครั้งสำคัญเกิดขึ้นเป็นทางการในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ซึ่งในยามนี้เป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับสองของประเทศ ได้แถลงข่าวเพื่อพลิกโฉมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้ทันสมัย โดยแกนหลัก 4 ด้านคือ

ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และให้มีการสร้างงานใหม่จากธุรกิจอื่นๆ ทดแทน

– การตั้งกองทุนมั่งคั่งมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

– การแปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ARAMCO โดยเอาหุ้น 5% ออกมาขายให้นักลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งคาดว่า จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์

– วางแผนให้ซาอุดีอาระเบีย เป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงเอเชียกับยุโรป

ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว ตามมาด้วยเรื่องที่ใหญ่มากระดับโลกคือ การประกาศปลดนายอาลี อัล-ไนมี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995  และแต่งตั้งนายกาลิด อัล-ฟาลีห์ ประธานบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย หรือที่รู้จักกันในนาม อารามโก เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคนใหม่

การเปลี่ยนนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนยุคเพื่อเปิดทางให้ประเทศ อยู่ภายใต้บงการของคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ต่ำอย่างเจ้าชายโมฮัมหมัด ที่อายุเพียง 30 ปีและไม่เคยจบการศึกษาในต่างประเทศ  เข้าครอบอำนาจเบ็ดเสร็จ ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมที่อายุน้อยที่สุดในโลก และประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ        

หากพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ประการ จะเห็นได้ว่า ข้อแรกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่ดำเนินการมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ในขณะที่ข้อ 2 และ 3 เป็นการปฏิรูปทางการคลังของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในยามที่รายได้จากการส่งออกน้ำมันร่อยหรอ ท่ามกลางคำถามว่า การแปรรูปบริษัทน้ำมันอย่าง ARAMCO เกิดขึ้นช้าเกินไปหรือไม่

ส่วนข้อสุดท้าย ไม่ได้มีอะไรใหม่เพราะเป็นเพียงการต่อยอดของยุทธศาสตร์เดิมที่เรียกว่าDiversification and the Development Plans ระยะ 5 ปีต่อเนื่องหลายแผน ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษ 1970 ที่บรรลุเป้าหมายเพียงเล็กน้อย

คำถามที่ตามมาว่า แผนยุทธศาสตร์จะบรรลุเป้าหมายได้ทันการณ์ก่อนที่เศรษฐกิจและเสถียรภาพของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะพังทลายก่อนหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทายยิ่ง ในช่วงเวลาที่ฐานะการคลังของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีอาการซวนเซ หลังจากที่ราคาน้ำมันตกลงไปในระดับ 30-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

งบประมาณแผ่นดินแต่ละปีของซาอุดีอาระเบีย จะสมดุลบนพื้นฐานของราคาน้ำมันดิบที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ปีที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องเฉือนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมาโปะงบประมาณที่ขาดดุลถึง 1 แสนล้านดอลลาร์

ผู้นำของซาอุดีอาระเบียนั้น รู้มานานแล้วว่า กับดักเรื่อง ภาพลวงตาของวงจรเศรษฐกิจขึ้นแรง-ลงแรงเป็นสิ่งที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ เพราะนับจากที่เกิดความมั่งคั่งกะทันหันจนกระทั่งซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นชาติที่ร่ำรวยที่สุดในตะวันออกกลาง และบัญชีการคลังของรัฐบาลน่าพอใจ ก็มีความพยามแก้ปัญหา แต่ยังไม่บรรลุผล

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียใช้ความมั่งคั่งจากน้ำมัน (เป็นรายได้เกือบทั้งหมดของงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี) ใช้จ่ายเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน (โดยเฉพาะในการก่อสร้าง) สวัสดิการสังคมสารพัด และการลงทุนในสาธารณูปโภค (การสื่อสาร ถนน สนามบิน ทางรถไฟ และการผลิตไฟฟ้า)

ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบหลายครั้งในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการบริหารความมั่งคั่งที่ไร้ประสิทธิภาพบางส่วน  ได้บั่นทอนความพยายามจะเปลี่ยนความมั่งคั่งของน้ำมันไปเป็นการพัฒนาอันยั่งยืนในด้านอื่นๆ

สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้ซาอุดีอาระเบียถูกบังคับให้ทุ่มเงินงบประมาณทางทหารต่อหัวสูงที่สุดในโลก และมีงบประมาณต้องเลี้ยงดู เจ้าชายและคนในราชวงศ์ซาอุฯมากกว่า 10,000 คน ได้รับเงินรายหัวตั้งแต่ 800-270,000 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมแล้วปีละประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ผลิตภาพของประชากร (ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง) ต่อหัวลดลงต่อเนื่อง

แม้แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ จะไม่ได้พูดถึงรายละเอียดมากนัก แต่เชื่อว่า ได้รวมเอาโครงการผลิตปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ซึ่งคาดหมายว่าจะรองรับแรงงาน 150,000 คน เพื่อทำการผลิตปิโตรเคมีมากถึง 11 ล้านตันต่อปี และโครงการเมืองเศรษฐกิจ 4 เมืองใหญ่ ที่จะแล้วเสร็จใน 4 ปีข้างหน้าอยู่ด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามใหญ่คือ การขาดแคลนแรงงานท้องถิ่นมหาศาล

ที่ผ่านมา นโยบายรัฐสวัสดิการของรัฐบาล ทำให้ประชากรส่วนใหญ่กลายเป็น “แมวอ้วน” จนกระทั่งต้องนำเข้าแรงงานเป็นยอดรวมสูงถึงประมาณ 5 ล้านคนในปัจจุบัน และในอนาคต โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานนำเข้าเหล่านี้มากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่มีคำตอบว่าจะแก้ปัญหา) “แมวอ้วน” อย่างไร

การที่ไม่มีคำตอบจะยิ่งทำให้ “คำสาปทรัพยากร” เป็นจริงเร็วยิ่งขึ้นซึ่งเป็นข้อสรุปที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เคยพยากรณ์เอาไว้ล่วงหน้า

ร้ายกว่านั้น ซาอุดีอาระเบีย ไม่เคยมีการวางรากฐานมีผู้ประกอบการเอกชนท้องถิ่นในระดับ  SME มาก่อน  รวมทั้งไม่มีกฎหมายแพ่งและพาณชิย์มารองรับการพัฒนาทุนนิยมเลย มีแต่กฎหมายจารีตของอิสลามเป็นหลัก

คำถามที่ไม่มีคำตอบเหล่านี้ รอท้าทายเจ้าชายโมฮัมหมัดอีกมากมาย น่าหนักใจแทนอย่างยิ่ง

Back to top button