บลจ.กรุงไทย เดินหน้าลุยหุ้นแดนปลาดิบโฟกัส “สมอลแคป” กำไรโต-P/E จูงใจ

บลจ.กรุงไทย เดินหน้าลุยหุ้นแดนปลาดิบ โฟกัส “สมอลแคป” กำไรโต-P/E จูงใจ


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ ฟันด์ ( KT-Japan) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Henderson Horizon Fund-Japanese Smaller Companies Fund โดยกองทุนรวมหลักมีวัตถุประสงค์ในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเงินทุนในระยะยาว เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นเป็นหลัก  ซึ่งหุ้นขนาดเล็กในญี่ปุ่น มีมูลค่าตลาดในช่วง 10,000-100,000 ล้านเยน  หรือประมาณ 3.25 พัน-3.25 หมื่นล้านบาท

โดยจุดเด่นของการลงทุนในหุ้นสมอลแคป คือ  ผลตอบแทนย้อนหลังดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาด และเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลาง   รวมทั้งอัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง (Sharpe Ratio) ย้อนหลังของหุ้นขนาดเล็กก็ดีกว่าเช่นกัน  หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าดัชนี Nikkei 225 ติดลบ 4.16% ดัชนี Topix ติดลบ 4.43% ในขณะที่ดัชนี TSEMother Index ซึ่งเป็นดัชนีของหุ้นขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 3.95%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้หุ้นขนาดเล็กมีผลตอบแทนดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นขนาดกลาง  ได้แก่ หุ้นขนาดเล็กส่วนใหญ่มีฐานรายได้จากเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ และหุ้นขนาดเล็กมีสัดส่วนการถือครองหุ้นที่เป็นต่างชาติน้อยกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ จึงทำให้ความผันผวนของหุ้นขนาดเล็กน้อยกว่าเช่นกัน  ซึ่งหุ้นขนาดเล็กมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในประเทศประมาณ 70% ต่างชาติ 20-30% ในขณะที่หุ้นขนาดกลางและใหญ่มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในประเทศประมาณ 20-30% ต่างชาติ 70%

ส่วนเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าได้ประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบในการประชุมในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยและขยายวงเงินในการเข้าซื้อหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้น  ประกอบกับนโยบายการลดภาษีธุรกิจลงเหลือ 29% จาก 32% ในปีนี้

ด้านการจ้างงานยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.2%ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นการบริโภคในประเทศต่อไป ค่าเงินเยนที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นเริ่มมีธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นด้วยโดยบริษัทเริ่มมีการจ่ายเงิน ปันผลรวมถึงการซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดค่อนข้างผันผวนเนื่องจากผิดคาดกับผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ผ่านมา ที่ไม่มีการประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ ซึ่งทำให้ตลาดมีการปรับตัวลดลงไป 7% จากที่ปรับตัวขึ้นมา 9% แต่มูลค่าของตลาดในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยปัจจุบันพีอี เรโช อยู่ที่ระดับ 15.4 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 17.5 เท่า ในขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับ 15-17% ต่อปี

Back to top button