ดอลล์อ่อนค่าหลังภาคการผลิตสหรัฐฯชะลอตัว

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอ


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินยูโร (23 พ.ค.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1223 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.1219 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินปอนด์ลดลงแตะระดับ 1.4482 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4506 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียลดลงแตะระดับ 0.7224 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7225 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบเยนที่ระดับ 109.20 เยน จากระดับ 110.23 เยน และลดลงเมื่อเทียบฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9894 ฟรังก์ จากระดับ 0.9908 ฟรังก์ ขณะที่ขยับขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3133 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3129 ดอลลาร์แคนาดา

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนแรงลงหลังจากมาร์กิต อิโคโนมิคส์ ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค.ของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 50.5 ลดลงจากระดับ 50.8 ในเดือนเม.ย. โดยถึงแม้ว่าดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว แต่การที่ดัชนีปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้านั้นถือเป็นการส่งสัญญาณว่า การขยายตัวดังกล่าวได้ชะลอตัวลง สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. เป็นเพราะผลผลิตในภาคการผลิตที่ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2552 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ก็ขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเมื่อวานนี้ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในปีหน้า

ขณะที่นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้แสดงความคิดเห็นเมื่อวานนี้เช่นกันว่า เมื่อพิจารณาจากภาวะในตลาดแรงงานและสถานการณ์เงินเฟ้อในขณะนี้แล้ว การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม

Back to top button