เจาะลึกภาษีที่ดินกดดันแบงก์ใหญ่โบรกฯชี้ได้จังหวะเข้าช้อนหุ้นเล็ก

โบรกฯแนะกลยุทธ์การลงทุน ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์น้อยกว่าตลาด และยังแนะนำให้ขายหุ้นใหญ่ทุกแห่ง ยกเว้น BBL มาซื้อหุ้นขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้นน้อย คือ TISCO และ TCAP


บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่าหุ้นธนาคารพาณิชย์ยังถูกดดันต่อเนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เอง เป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการยึดทรัพย์ กรณีที่ลูกค้าผิดชำระ (อยู่ในรายการทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA) ซึ่งจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราหลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าเป็นที่ดินเปล่า ที่ดินเกษตรกรรม หรือ พาณิชย์กรรม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กำหนดสมมติฐานของการใช้อัตราภาษีสูงสุดสำหรับสินทรัพย์แต่ละประเภทบนมูลค่าของ NPA สุทธิจากค่าเผื่อการด้อยค่า ณ สิ้นปี 2558 ตามที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน (กรณีที่เกิดขึ้นจริงจะไม่สูงขนาดนี้) พบว่ากรณีเลวร้ายจะกระทบกำไรกลุ่มฯ ในปี 2560 เพียง 1.7% ของคาดการณ์ปัจจุบัน 2.16 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ประเด็นที่กระทบต่อกลุ่ม ธนาคารคือ รายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งมีแหล่งที่ได้มาจากหลายส่วน คือ 1) ธุรกรรม Digital Banking รวมกันราว 25% ของรายได้ค่าธรรมโดยรวม (Electronic Banking และ ATM น่าจะสัดส่วนใกล้เคียงกัน) ส่วนนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ตามแนวคิดของรัฐบาลที่จะให้ใช้เงินสดลง (ธุรกรรม Any ID) และ 2) ค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บจากร้านค้า ในการติดตั้งเครื่อง EDC (เป็นเครื่องรูดเพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าที่ใช้ใบเครดิต และบัตรเดบิต) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลดลงจากอัตราสูงสุดที่ 3% เหลือ 1.5% ปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนที่ 2 นี้คิดเป็น ราว 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมโดยรวม (ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมจากการจัดเก็บเครื่องรูด EDC สัดส่วนจะหนักมาทางที่ EDC มากกว่า)

ทั้งนี้ หากรวมทั้ง 2 รายการคาดว่ากำไรของธนาคารพาณิชย์น่าจะหายไปไปอีกราว 5% (ขณะนี้นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์กำลังปรับปรุงประมาณการอยู่) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่จะถูกกระทบยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คือ SCB, KBANK, KTB (ผ่านการถือหุ้น KTC) ส่วน BBL กระทบไม่มากเหมือนคู่แข่งขันเพราะมีสัดส่วนในการให้บริการบัตรเครติดน้อยสุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยรวมทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 มีแนวโน้มหดตัวจากปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยกดดันกำไรตลาดหุ้นในปีนี้

กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์น้อยกว่าตลาด และยังแนะนำให้ขายหุ้นใหญ่ทุกแห่ง ยกเว้น BBL มาซื้อหุ้นขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้นน้อย คือ TISCO, TCAP เป็นต้น

Back to top button