กล้าตอนคนอื่นกลัวก็รวยได้เหมือนกัน

กระแสเรื่องอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ดุเหมือนจะเข้มข้น และทวีความรุนแรงขึ้นทุกที


–ตามกระแสโลก–

 

กระแสเรื่องอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ดุเหมือนจะเข้มข้น และทวีความรุนแรงขึ้นทุกที

รุนแรงทั้งในแง่ของผลกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันและทองคำ

มิหนำซ้ำ ยังลุกลามบานปลายถึงขั้น มีการลงไม้ลงมือ และทำร้ายร่างกายฝั่งที่เห็นต่าง จนมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น

อย่างกรณีของ “โจ ค็อกซ์” หรือ นางเฮเลน โจแอน ค็อกซ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ สังกัดพรรคแรงงาน ที่ถูกผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพฯ ทำร้ายจนเสียชีวิต

เสมือนเป็นการตอกย้ำถึงผลสำรวจที่ว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพฯ จริงๆ ด้วยเหตุผลนานาประการ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากการสำรวจของ Ipsos MORI ซึ่งบ่งชี้ว่า คนอังกฤษกำลังเข้าใจผิดในหลายๆประเด็นอยู่เหมือนกัน

ยกตัวอย่าง ผลจากการทำเซอร์เวย์ 1 พันตัวอย่าง ผู้คนคิดว่า จำนวนประชากรของอังกฤษที่เป็นผู้อพยพมาจากยูโรโซนคิดเป็น 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเฉลี่ย

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่า ประชากรที่เป็น “อิมมิแกรนท์” จะมีจำนวนเท่ากับ 10.50 ล้านคน แต่ในข้อเท็จจริงมีเพียง 3.50 ล้านคนเท่านั้น

นอกเหนือไปจากนั้น 84% ของผู้ที่ถูกสำรวจทั้งหมด ยังคิดว่า อังกฤษเป็นหนึ่งในสามประเทศที่สนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่งบประมาณของสหภาพยุโรปมากที่สุด

แต่ในข้อเท็จจริงนั้น อังกฤษจ่ายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ หรือคิดเป็น 11% ของงบฯทั้งหมด เพียงเท่านั้น

โดยเป็นรองเยอรมัน ที่สนับสนุนราว 21% ฝรั่งเศส 16% แม้กระทั่งประเทศ “ลูกหนี้อมตะ” อย่างอิตาลีก็จ่าย 12% ซึ่งยังมากกว่าอังกฤษอีกด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสวัสดิการที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับลูกหลานผู้อพยพ หรือค่าใช้จ่ายในส่วนของรัฐบาลกลางยุโรป ซึ่งคนอังกฤษคิดว่าตัวเองจ่ายมากเกินความเป็นจริง

ประเด็นเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ตอบโจทก์ว่า ทำไมคนอังกฤษที่อยากให้ออกจากสหภาพยุโรปถึงมีมากกว่าคนที่อยากให้อยู่?

แต่นั่น คือความคิดเห็นของคนอังกฤษส่วนใหญ่ ส่วนคนอื่นๆทั่วโลก ณ ตอนนี้ ผมเชื่อว่าเสียงส่วนมากคงยังไม่อยากเห็นอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ

โดยเฉพาะเยอรมัน เพราะมีความจำเป็นจะต้องแบกภาระความรับผิดชอบต่อกลุ่มหนักขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ถ้ามองเป็นภาพรวมของยุโรป การถอนตัวของอังกฤษจะส่งผลต่อการค้าขายอย่างมีนัยสำคัญ

เนื่องจากปัจจุบัน กิจกรรมการนำเข้า-ส่งออกของอังกฤษกับยุโรป คิดเป็น 50% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของอังกฤษ

ส่วนในเรื่องตลาดหุ้น ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะความกังวลจากเรื่องนี้ ส่งผลให้เกิดการโยกเงินลงทุนไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างเช่นทองคำ

โดยหากว่า วันที่ 23 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ผลประชามติออกมาให้อังกฤษถอนตัว ค่าเงินยูโรและเงินปอนด์ก็จะผันผวนอย่างหนัก(อย่างน้อยในช่วงแรก)

ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น และนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนในลำดับต่อไป แต่อาจจะเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

สำหรับบ้านเรา คงไม่ต้องพูดอะไรกันมากมายนัก เนื่องจากเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

หากจะมีบ้าง ก็คงเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน จากการอ่อนค่าลงของสองสกุลเงินข้างต้น ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออกบ้างเล็กน้อย

โดยสามารถวัดได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังอังกฤษ ที่คิดเป็นประมาณ 2% ของการส่งออกทั้งหมด และไม่เกิน 10% หากนับรวมทั้งยูโรโซน

แต่เอาเถอะครับ ยังไงตัวเลขของภาคการส่งออกของไทย มันก็ย่ำแย่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ได้อีกหรอก!

ส่วนภาคการท่องเที่ยว หากวัดจากช่วงที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจของยุโรปชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากมายเท่าไหร่นัก

เนื่องจากยอดนักท่องเที่ยวยังสามารถเติบโตได้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนหลักยังอยู่ที่นักท่องเที่ยวชาวจีน รวมไปถึงชาติตะวันตกอื่นๆอย่างรัสเซีย   

ครับ…ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า คงยังเคลื่อนไหวแบบตุ้มๆต่อมๆต่อไป ตามสภาพที่ยังถูกกดดันจากประเด็นต่างประเทศอยู่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ BREXIT เองก็ดี หรือจะเป็นเรื่องการแข็งค่าของเงินเยน รวมถึงเรื่องของราคาน้ำมันที่กลับมาอยู่ในช่วงขาลงอีกครั้งก็ดี

ซึ่งหลังจากการลงประชามติของอังกฤษสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดี ก็ยังจะมีเรื่องเก่าที่สามารถนำมาเล่าใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

แน่นอนว่า เป็นเรื่องอื่นใดไปไม่ได้นอกจากประเด็นของเฟด ซึ่งจะมีการประชุม FOMC อีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม

แบบนี้ ต้องบอกว่า นักลงทุนไทยโชคดีที่สุด เพราะปัจจัยกดดันเรื่องเก่ายังไม่ทันจบ ก็มีเรื่องใหม่มาต่อแถวรอถล่มหุ้นไทยอีกระลอกแล้ว!

อย่างไรเสีย มันก็เป็นเช่นนี้เสมอมาแหละครับ แต่อย่าลืมนะ โอกาสมักเกิดในวิกฤตอยู่เสมอ ใช่หรือไม่?  

Back to top button