ซื้อในวันเลือดสาด…ขายในวันปกติ

ทราบกันแล้วนะครับ ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ออกมาเป็น Leave หรือ ออก


–ตามกระแสโลก–

 

ทราบกันแล้วนะครับ ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ออกมาเป็น Leave หรือ ออก

โดยครั้งนี้ มีผู้มาลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น 33.55 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 46.50 ล้านคน

แบ่งเป็น โหวต Leave 17.41 ล้านคน และ Remain 16.14 ล้านคน หรือ 51.90% และ 48.10% ตามลำดับ

ดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ดัชนีฟิวเจอส์ตัวหลักๆ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์และยูโร กับ ดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ต่างผันผวนกันอย่างรุนแรง

แน่นอน นั่นหมายถึงตลาดหุ้นบ้านเราด้วยครับ โดยลงมาปิดที่ระดับ 1,413.19 จุด ปรับตัวลดลงไป 23.21 จุด หรือประมาณ 1.62% ส่วนมูลค่าการซื้อขาย (เน้นว่าขาย) อยู่ที่ 8.82 หมื่นล้านบาท

การปรับตัวลงของหุ้นไทยรอบนี้ อย่างที่ทราบกัน เป็นแค่ผลกระทบเชิงเซนทิเมนต์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวเลย

เพราะฉะนั้นวันนี้ คงต้องย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ในอดีตที่เคยมีผลกระทบต่อหุ้นไทยซักหน่อย เผื่อว่าอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย

ยกตัวอย่าง การออกมาตรการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ เมื่อปี 2549 โดย ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล ซึ่งทำให้นักลงทุนไทยมีโอกาสได้รู้จักกับ “อุ๋ยร้อยจุด” (ในวันเดียว)

การล้มละลายของ “เลย์แมน บราเธอร์” ในปี 2551 และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จาก AAA เหลือ AA+ เมื่อปี 2554 รวมถึงการที่เฟดเตรียมปรับลด QE เมื่อปี 2556

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ มีผลทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงเฉลี่ยราว 21.85% และใช้เวลาประมาณ 118 วัน สำหรับการฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับเดิม

โดยเหตุการณ์รุนแรงที่สุด เป็นกรณีของ “เลย์แมน บราเธอร์” ซึ่งกดดัชนีหุ้นไทยลงไปถึง 41.29% แถมยังต้องใช้เวลาอีกถึง 221 วัน เพื่อรีคอฟเวอร์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรณีของ BREXIT รอบนี้ ถือเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจเช่นเดียวกับกรณีต่างๆ ข้างต้น

แต่ก็ถือเป็นแค่ ผลกระทบทางอ้อมที่แทบจะไม่มีนัยสำคัญใดๆ เลย โดยเฉพาะเมื่ออ้างอิงไปถึงตัวเลขการค้าขายของไทยกับสหราชอาณาจักร และ อียู

หรือแม้หากว่า ประเด็นปัญหาเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในแง่ของฟันด์โฟลว์ ก็ยังดูเหมือนเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวพอสมควร

อีกอย่าง ผลประชามติไม่ได้มีผลทางกฏหมาย เพราะยังต้องไปลงมติกันในสภาอีกรอบหนึ่ง

โดยถ้ามีมติให้ออกจริงๆ ก็ยังต้องใช้เวลาสำหรับขั้นตอนในการลาออก รวมถึงหาข้อสรุปด้านการค้ากับประเทศสมาชิกรายอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี

แบบนี้ ในทางปฏิบัติแล้ว มันแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยครับ!

ประเด็นของ BREXIT รอบนี้ เป็นเรื่องของ Nationalism ล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจตามที่กล่าวอ้างกันซักเท่าไหร่หรอก

ดูแล้ว น่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ตัวเองเป็นชาติมหาอำนาจมาแต่โบราณกาล แล้วรู้สึกทำใจไม่ได้ที่ปัจจุบันต้องมากินน้ำใต้ศอกเยอรมันกับฝรั่งเศส

ก็เอาเถอะครับ…จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาดูเหมือนรายย่อยสัญชาติไทยจะเล่นได้ตามสูตรเด็ดแบบเป๊ะๆ

ส่วนที่ดูปอดแหกออกหน้าออกตา กลายเป็นกองทุน และ พร็อพเทรด เพราะรายแรกขายออกมาร่วม 7.48 พันล้านบาท และรายที่สองอีก 4.65 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภาพรวมตอนนี้ ถือว่าเริ่มหายตกใจกันหมดแล้ว หากยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็คงจะสะเด็ดน้ำไม่เกินวันจันทร์

ต่อจากนั้นรายย่อยที่ซื้อไปเกือบ 1.30 หมื่นล้าน เมื่อวันศุกร์ คงได้เริ่มขายทำกำไรกันออกมาอย่างสุขสำราญใจ ตามสไตล์ “ซื้อในวันเลือดสาด ขายในวันปกติ” เป็นแน่แท้

 

ป.ล. การที่ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังเสร็จสิ้นการลงประชามติ ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานอันสูงส่ง

โดยเฉพาะเมื่อสำนึกได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของตน แล้วเหตุใดจึงต้องหน้าด้าน ดันทุรังให้เป็นที่น่ารังเกียจ แถมยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา หรือบริหารจัดการประเทศอีกด้วย

Back to top button