พรุ่งนี้! รฟม.เปิดขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง

พรุ่งนี้! รฟม.เริ่มขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง เล็งเซ็นสัญญากับผู้ร่วมทุนใน เม.ย.60


นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ฝ่ายกลยุทธ์และแผน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้  (6 ก.ค.) รฟม.จะเริ่มเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารการร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.วงเงิน 53,490 ล้านบาท และ สายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.วงเงิน 51,810 ล้านบาท พร้อมกันไปจนถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้

จากนั้น รฟม.ได้กำหนดเปิดรับซองข้อเสนอของทั้งสองโครงการในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 9.00-15.00 น.และกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พ.ย.59 เวลา 13.00 น.

รองผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ในวันเปิดซองข้อเสนอการลงทุน จะมีคณะกรรมการมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) เข้าร่วม โดยจะมีการเปิดทั้ง 3 ซอง คือซองคุณสมบัติ ซองทางเทคนิค และ ซองราคา ซึ่งจะยังไม่มีการประกาศราคายื่นเข้ามาในวันนั้น แต่คณะกรรมการมาตรา 35ฯ จะพิจารณาก่อนว่าแต่ละรายผ่านคุณสมบัติ และ ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือไม่ จึงจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคาต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุวันที่ชัดเจน แต่ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

“เราต้องมาดูข้อเสนอการลงทุนโครงการต้องประเมินข้อเสนอทั้งด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิค ส่วนราคาจะเปิดสุดท้าย เรื่องนี้ก็จะทำให้เร็ว เพราะเรามีกำหนดจะต้องเซ็นสัญญากับผู้รวมลงทุนภายในเดือน เม.ย.60” นายธีรพันธ์ กล่าว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลืองผู้รับสัมปทานมีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้า โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง ระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจากรฟม.ให้เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดยเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร ค่าที่จอดรถและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งหมดที่เป็นไปตามเงื่อนไของร่างสัญญาร่วมลงทุน

ที่ผ่านมาบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ระบุว่าจะจับมือกับพันธมิตรเข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จับมือกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเป็นผู้เดินรถบีทีเอส, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK จับมือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม CK และเป็นผู้เดินรถสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT ขณะที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จับมือกับ บริษัท Transdev จำกัด จากฝรั่งเศส และ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ จะร่วมกับพันธมิตร 2-3 ราย

Back to top button