
ม.หอการค้า ชี้ช่วงหยุดยาวเงินสะพัด 5.7 พันลบ. พีคสุดในรอบ 5 ปี
ม.หอการค้า ชี้ช่วงหยุดยาวเงินสะพัด 5.7 พันลบ. พีคสุดในรอบ 5 ปี หลังประชาชนเที่ยวเพิ่มขึ้น-มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว มองมาตรการเพิ่มวันหยุดยาว-ช้อปสินค้า OTOP มีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา พร้อมทั้งวันหยุดยาว 5 วัน พบว่า พฤติกรรมและการใช้จ่ายในช่วงวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา มีคนวางแผนเดินทางออกนอกพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46.1% โดยคนที่ไปจะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำบุญในประเทศ 95.2% ซึ่งมากกว่าไปต่างประเทศ 4.8%
โดยกิจกรรมที่นิยมทำ คือ ตักบาตร ทำบุญ ไปถวายเทียน ไปถวายสังฆทาน ไปท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้มีเงินสะพัด 5,773.21 ล้านบาท ขยายตัว 7.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงสุดในรอบ 5 ปีนับเริ่มสำรวจครั้งแรกปี 55 เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ทำให้คนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งหากรวมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวด้วย มูลค่าการใช้รวมน่าจะสูงถึง 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
“แม้เงินสะพัดยังไม่มากนัก แต่นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่สะท้อนว่า ประชาชนมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้น จึงพร้อมจับจ่ายใช้สอย แต่ตนมองว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ หรือเป็นรูปตัวย U ช่วงแอ่งกระทะ และคาดว่าไตรมาส 3 เป็นต้นไป เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวอย่างเด่นชัดขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องการให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน เบิกจ่ายเงินงบประมาณ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่า มาตรการเพิ่มวันหยุดยาว มาตรการช็อปสินค้า OTOP นั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก
โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว มีสินค้า OTOP น่าจะทำให้เงินสะพัดในพื้นที่ได้มาก 500-1,000 ล้านบาทในช่วง 1 เดือนนี้ หรือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้นได้ 0.1-0.3% ของจีดีพีพื้นที่ เช่น พร้อมกันนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการชุมชนติดป้ายว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ พร้อมแสดงใบลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน เพื่อให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ มาตรการช็อปสินค้า OTOP ยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย
“ประชาชน เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจฟื้นแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2 แต่ฟื้นอ่อนๆ เข้าไตรมาส 3 มานี้ ความเชื่อมั่นมีมากขึ้น จากภัยแล้งที่คลี่คลาย สินค้าเกษตรราคาดีขึ้น ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย มีส่วนทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กล้าใช้จ่าย ยอดซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนให้บรรยากาศคึกคักขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวยังดีอยู่ และการเบิกจ่ายภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เริ่มลงไปสู่พื้นที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจท้องที่ดีขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ประชาชนคลายความกังวลเกี่ยวกับ Brexit และการลงประชามติรัฐธรรมนูญ โดยมองว่าไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้”