ABM ลุ้นเทรดสนั่น โบรกฯเคาะเป้าสูงลิ่ว 2.50 บ. ขานรับพื้นฐานธุรกิจโตเด่น

ABM ลงสนามเทรดวันแรก ลุ้นราคาแตะ 2.50 บาท จากราคา IPO ที่ 1.80 บาท เล็งนำเงินระดมทุนใช้ขยายพื้นที่เก็บกะลาปาล์ม จัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่ง รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (27 ก.พ.) บริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) หรือ ABM ผู้ดำเนินธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจทรัพยากร โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 75,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ที่ราคา IPO หุ้นละ 1.80 บาท และมีบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้ ABM มีทุนเรียกชำระแล้ว 112.50 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 225 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น และภายหลังเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนชำระแล้ว 150 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 300 ล้านหุ้น

โดยบริษัทวางแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ใช้ลงทุนในโครงการขยายพื้นที่รวบรวมกะลาปาล์มเพิ่มเติมในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย จำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาลงทุนในช่วงปี 2561-2562 โดยโครงการดังกล่าวจะรองรับการขยายตัวของความต้องการกะลาปาล์ม และการที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

2.ใช้ลงทุนในโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งกับบริษัท แฟนซีวู๊ดอินดัสตรีส จำกัด (มหาชน) หรือ FANCY มูลค่าเงินลงทุน จำนวน 31 ล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 49% และทาง FANCY ถือหุ้น 51% โดยจะเริ่มลงทุนภายในไตรมาส 1/2561 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการประกันแหล่งผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้เพียงพอต่อความต้องการ

และ 3.ใช้ลงทุนในโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตไม้สับ และโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลค่าเงินลงทุน 20 ล้านบาท โดยจะสร้างโรงงานผลิตไม้สับ จำนวน 120,000 ตันต่อปี และได้เชื้อเพลงชีวมวลอัดแท่ง 24,000 ตันต่อปี และ 4.ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ด้านนางสาวธิญาดา ควรสถาพร กรรมการผู้จัดการ ABM เปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีและมีความพร้อมที่จะดำเนินขั้นตอนต่างๆ ตามที่ทางที่ปรึกษาทางการเงินเตรียมไว้ เพื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนและเข้าเป็นส่วนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ mai อย่างสมบูรณ์และเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลของบริษัทให้แก่นักลงทุนได้รับทราบ

ทั้งนี้ บริษัทมีความยินดีที่จะชี้แจงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินงานและการทำกำไรของบริษัท รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคตจากกระแสการใช้พลังงานชีวมวลที่เพิ่มมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงโครงการในอนาคตหลังจากการระดมทุนของบริษัท เพื่อนำมาใช้ขยายกิจการและเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งบริษัทหวังว่าจะได้รับความสนใจ และกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน

“สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีแผนใช้ในการขยายพื้นที่เก็บรวบรวมกะลาปาล์มเพิ่มเติมในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งกับบริษัทร่วมทุนพื้นที่บริเวณภาคใต้ รวมถึงลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตไม้สับ และโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งใน จ.สุราษฎร์ธานี และส่วนที่เหลือคาดว่าจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ” น.ส.ธิญาดา กล่าว

ขณะที่ น.ส.พัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แกนนำการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยว่า ABM มีแผนที่จะเดินสายนำเสนอข้อมูลบริษัทแก่นักลงทุน หรือโรดโชว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพบ และให้ข้อมูลกับนักลงทุน 2 จังหวัด ได้แก่ สงขลา และกรุงเทพมหานคร

โดยเชื่อว่า ABM จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ด้วยทีมงานผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในการเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ด้านนางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ABM มีความพร้อมเป็นอย่างมากในการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจในช่วงที่ผ่านมา

อีกทั้งแนวโน้มประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้แสวงหาแหล่งพลังงานที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวลสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ และโรงไฟฟ้าได้จากการที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่มีอย่างยั่งยืน สามารถผลิตใหม่เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงที่ใช้ไปได้

ดังนั้นแนวโน้มความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลต่อไปในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป และน่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้านผลดำเนินงานประจำปี 2560 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 60 บริษัทมีกำไรสุทธิ 15.63 ล้านบาท ลดลง 40.29% จากปีก่อนมีกำไร 26.10 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรน้อยลง เนื่องจากมีรายได้ลดลงจากปีก่อนจำนวน 48.77 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.77%

โดยรายได้หลักเป็นรายได้จากการขายสินค้า อีกทั้งยังมีรายได้จากการให้บริการขนส่งแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน และบริษัทอื่นสัดส่วนประมาณ 0-1% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1% เป็นรายได้อื่น ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากการขายสินทรัพย์ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ของ ABM พบว่านักวิเคราะห์ชั้นนำ ได้มีการให้ราคาสูงสุดที่ 2.51 บาท โดยมองแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2561 เฉลี่ยโต 166% ตามแนวโน้มความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศสอดรับนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนทั่วโลก

ด้านนักวิเคราะห์ บล. ทรีนิตี้ ให้ราคาเป้าหมายหุ้น ABM ไว้ที่ 2.51 บาทต่อหุ้น โดยมองว่าABM เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการจัดหา ขนส่งและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลครบวงจรในเอเซีย และคาดว่าผลการดำเนินงานน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2560 จากภาวะการณ์ที่ไม่ปกติของฤดูกาลที่ส่งผลต่อจำนวนกะลาปาล์มในตลาด และปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อตลาดในต่างประเทศเช่นกัน

พร้อมกันนี้ยังคาดว่าผลการดำเนินงานจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2561 จากกลยุทธ์การเติบโตภายในจากการขยายไปยังธุรกิจต้นน้ำ ประกอบปัจจัยบวกของอุตสาหกรรมสนับสนุนจากความต้องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ให้ราคาเป้าหมายที่ 2.50 บาท โดยมีความเห็นว่า ปี 2561 ผลประกอบการโตโดดเด่น จากยอดขายชีวมวลอัดแท่ง (Biomass pellet) ตามความต้องการของลูกค้าในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจะเริ่มแล้วเสร็จ และปริมาณการขายกะลาปาล์มในต่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบการเร่งจำหน่ายกะลาปาล์มของผู้ขายในประเทศอินโดนีเซีย จากการคาดการณ์การขึ้นภาษีการส่งออกในประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ บล ฟินันเซีย ไซรัส ยังให้เป้าหมายราคาที่ 2.26 บาท โดยมีมุมมองธุรกิจเติบโตเท่าตัว จากปี 2560 หนุนโดยปริมาณการขายกะลาปาล์มทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังปีก่อนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และความต้องการของลูกค้าโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก

Back to top button