‘ตอแหลแก้รัฐธรรมนูญ’

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ต้องใส่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมผลักดันให้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ด้วย


ทายท้าวิชามาร : อรชุน(แทน)

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ต้องใส่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมผลักดันให้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ด้วย

ตรงนี้เพื่อต้องการขับเน้นให้สังคมเห็นว่า สิ่งที่ตัวเองเสนอไม่ใช่การตอแหล ดีแต่พูด แต่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้สำเร็จ

ภาพของอภิสิทธิ์หลังเลือกตั้ง ชัดเจนว่าเหตุที่ไขก๊อกพ้นจากส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะไม่เอาประยุทธ์ ปฏิเสธขบวนการสืบทอดอำนาจ

ขณะเดียวกันภาพก่อนหน้า แม้ว่าจะเด่นชัดในการไม่เห็นด้วยในเนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ แต่เมื่ออยู่ในห้วงของการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภาพตรงนั้นกลับเบลอ ๆ ไม่ชัดเจน

กระนั้นก็ตามโดยภาพรวมประชาธิปัตย์ก็ยังเชื่อมั่นต่อการชูอภิสิทธิ์ขึ้นมาในยามนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ จริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เสนอเพียงเพื่อเป็นข้ออ้างในการเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ตัดภาพกลับไปที่พรรคสืบทอดอำนาจ ทันทีทันใดที่ปรากฏชื่ออภิสิทธิ์ในฟากฝั่งประชาธิปัตย์ ก็มีเสียงทักท้วงอื้ออึงมาจากแกนนำพรรคอ้างว่า ตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ตามมารยาททางการเมืองต้องคนของพรรคแกนนำรัฐบาลอันหมายถึงพปชร.เท่านั้น

คู่ขนานกันมากับการเสนอชื่อ ตี๋กร่าง สุชาติ ตันเจริญ มาประกบ โดยที่เจ้าตัวตอนแรกก็ยังแบ่งรับ แต่คล้อยหลังก็ทำท่าว่าจะใส่เกียร์ถอย สุดท้ายก็วกกลับมาชกธงสู้ต่อ ไม่หวั่นข้อครหาว่าลดชั้นจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นประธานกรรมาธิการ เพราะถ้าจะท้าชิงอภิสิทธิ์ต้องคนเบอร์นี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นแย่งเก้าอี้กันของสองพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้ายก็จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ยอมกันได้ เพียงแต่ว่าใครจะเป็นฝ่ายถอยแค่นั้นเอง

ที่ควรจับตามองน่ากลับเป็นสัดส่วนกรรมาธิการจากฟากรัฐบาลมากกว่า แม้ฝ่ายค้านจะมองว่างานนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรมีกรรมาธิการในโควตาของฝ่ายบริหารก็ตาม

แต่ประสาพวกที่ทำทุกอย่างเพื่อการสืบทอดอำนาจ จะมาสนใจใส่ใจอะไรกับเสียงนกเสียงกา การปรากฏชื่อชิมลางของทั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เป็นเพียงแค่เกมแยกเขี้ยวขู่ ส่งสัญญาณให้รู้กลาย ๆ ว่าข้าไม่พอใจต่อความพยายามในครั้งนี้

สุดท้ายทั้งสองชื่อก็ไม่ได้ถูกเสนอเข้ามา แต่กลับเป็นว่ามีสองส.ว.สม ที่ได้ดิบได้ดีจากอำนาจเผด็จการทั้งสองรอบ มาเป็นกรรมาธิการในโควตารัฐบาลนั่นก็คือ พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม กับ สมชาย แสวงการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายเร่งด่วนข้อ 12 นั้น เป็นความตั้งใจของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่จะขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือแค่บรรจุเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลพวกเดียวกันก่อนรัฐประหาร

การปรากฏชื่อของพวกลากตั้งที่แสดงออกชัดเจนว่าห้ามแตะทั้งตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและข้อกฎหมายที่เป็นกลไกสำคัญของการสืบทอดอำนาจ ทำให้มองเห็นภาพบรรยากาศการทำงานของคณะกรรมาธิการที่จะจัดตั้งขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร

ท้ายที่สุดย่อมหนีไม่พ้น สิ่งที่ซีกถือครองอำนาจจะทำนั้นเป็นเพียงแค่ ละครตอแหล (แหกตา) แก้รัฐธรรมนูญ

Back to top button