
กบร.ออกข้อบังคับ คุ้มครองผู้โดยสาร เที่ยวบินล่าช้า-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค.นี้
กบร.ออกกฎใหม่คุ้มครองผู้โดยสาร เที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า สายการบินต้องชดเชยเงินสด-ที่พัก-อาหาร เริ่มบังคับ 20 พ.ค.นี้
คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ออกข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 เรื่อง “มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ” โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้โดยสารในกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางมาถึงสนามบินแล้ว
สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ หากล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินจะต้องจัดอาหาร เครื่องดื่ม หรือคูปองแลกอาหารตามความเหมาะสม พร้อมทั้งอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์หรืออีเมล โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 1,500 บาท หรือเสนอทางเลือกเป็น credit shell, travel vouchers, ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าเทียบเท่า พร้อมจัดที่พักและการรับส่งหากต้องพักค้างคืน และหากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอให้เลือกระหว่างคืนค่าโดยสารเต็มจำนวน หรือรูปแบบชดเชยอื่นตามที่ผู้โดยสารเห็นสมควร
ในกรณีที่เที่ยวบินล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง ต้องชดเชยเป็นเงินสดภายใน 14 วัน ตามระยะทางของเที่ยวบิน ได้แก่ 2,000 บาท สำหรับระยะทางไม่เกิน 1,500 กม., 3,500 บาท สำหรับระยะทาง 1,500–3,500 กม., และ 4,500 บาท สำหรับระยะทางเกิน 3,500 กม. หรือเลือกเป็น credit shell, travel vouchers, ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชย พร้อมจัดที่พักและการรับส่ง และต้องเสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่างรับเงินคืน, เปลี่ยนเที่ยวบิน, หรือจัดการขนส่งอื่นไปยังจุดหมายใกล้เคียง
หากเที่ยวบินถูกยกเลิกหรือปฏิเสธการรับขนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน หรือแจ้งน้อยกว่า 7 วันแต่ไม่สามารถจัดเที่ยวบินใหม่ให้ผู้โดยสารเดินทางได้ภายใน 3 ชั่วโมงจากเวลาเดิม สายการบินต้องชดเชยในระดับเดียวกับเที่ยวบินที่ล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง เว้นแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยที่สายการบินไม่สามารถควบคุมได้
ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศ หากล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง จะได้รับค่าชดเชยเพิ่มจากเดิม 600 บาท เป็น 1,200 บาท และในกรณีที่เที่ยวบินถูกยกเลิก ค่าชดเชยจะเพิ่มจาก 1,200 บาท เป็น 1,500 บาท โดยสายการบินสามารถเสนอชดเชยเป็น credit shell, travel vouchers, ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นแทนได้เช่นกัน ทั้งนี้ การชดเชยจะไม่ครอบคลุมกรณีเหตุสุดวิสัยนอกเหนือการควบคุมของสายการบิน
สำหรับกรณีที่ผู้โดยสารต้องรออยู่ในเครื่องบินเป็นเวลานาน (Tarmac Delay) โดยที่เครื่องยังไม่ได้บินขึ้น สายการบินต้องดูแลผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าทั่วไป ทั้งในเรื่องการไหลเวียนอากาศ อุณหภูมิ ห้องน้ำ และการให้บริการทางการแพทย์หากจำเป็น หากล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงและยังไม่มีกำหนดการบินขึ้น ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่อง เว้นแต่มีเหตุด้านความปลอดภัยหรือข้อจำกัดด้านการจราจรทางอากาศ
ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการบินของประเทศไทย โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้สายการบินและผู้โดยสารเข้าใจและปฏิบัติตามข้อบังคับนี้อย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้โดยสารทุกคน