โบรกฯ ชู 4 หุ้นเนื้อสัตว์เด่น! ชี้กำไรกลุ่มปี 68 โต 16% รับราคาเนื้อพุ่ง-ต้นทุนลด

กลุ่มเนื้อสัตว์ฟื้นตัวชัดเจนไตรมาสแรก รับราคาหมู-ไก่หนุน ด้าน บล.ฟินันเซีย อัพเป้ากำไรกลุ่มปี 68 เติบโต 16% เลือก BTG เด่นสุด แนะซื้อราคาเป้าหมาย 27 บาท พร้อมแนะ "ซื้อ" CPF-TFG-GFPT


ผู้สื่อข่าวรายงาน บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์คาดกำไรไตรมาส 1/68 ของกลุ่มเนื้อสัตว์จะออกมาสดใสเพิ่มขึ้น 47% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 466% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 68 ของกลุ่มเนื้อสัตว์ขึ้น 45% เป็นเติบโต 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังราคาเนื้อสัตว์ที่ดีกว่าคาดการณ์

ทั้งนี้ ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์จากต้นปีถึงปัจจุบัน โดยราคาหมูเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 80-82 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ในประเทศไทยและ VND 65,000/กก. (เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ในประเทศเวียดนาม โดยได้ปัจจัยผลักดันจากอุปทานที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาดและความเสียหายจากน้ำท่วมในไตรมาส 4/67

ขณะที่ ราคาไก่ไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 40 บาท/กก. ราคาหมูจีนยังไม่ฟื้นตัวและอยู่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งทำให้ปรับสมมติฐานราคาหมูในปี 68 โดยปรับขึ้น 7% ในไทย และปรับลด 3% ในจีน แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะยังทรงตัวในระดับต่ำ พร้อมปรับลดสมมติฐานราคากากถั่วเหลืองลง 18% แต่ปรับเพิ่มประมาณการราคาข้าวโพดขึ้น 5% ทั้งหมด

ทำให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 68 ของกลุ่มเนื้อสัตว์ขึ้น 45% เป็นโต 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดย บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG (เพิ่มขึ้น 62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน), บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG (เพิ่มขึ้น 33%) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF (เพิ่มขึ้น 12%) ในขณะที่ประมาณการตัวเลขการเติบโตสำหรับ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ยังคงเดิมที่ 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯไม่กระทบกลุ่มเนื้อสัตว์โดยตรง เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้เป็นคู่ค้าหรือคู่แข่งของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไทย อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งของการเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ถ้าสินค้าดังกล่าวเป็นข้าวโพดหรือกากถั่วเหลืองกรณีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรที่ทำปศุสัตว์

อย่างไรก็ดีถ้าเป็นการนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหมูในประเทศ ทั้งนี้ CPF BTG และ TFG ประมาณ 17% ของรายได้รวมจากธุรกิจหมูไทย จากการศึกษาความเป็นไปได้พบว่าถ้าราคาหมูไทยลดลง 10% จะกระทบกำไรสุทธิประมาณ 5%

ทั้งนี้ เชื่อว่าความเป็นไปได้มีต่ำ เนื่องจากมีการใช้ Ractopamine ในหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสารต้องห้ามในไทยและมีการคัดค้านอย่างรุนแรงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

ส่วนของการนำเข้าเครื่องในสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ถ้ามีการควบคุมอย่างเหมาะสมและใช้ต้องตรงตามวัตถุประสงค์ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบจำกัดต่อราคาหมูไทย

ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ เพิ่มน้ำหนักเป็นมากกว่าตลาดจากราคาเนื้อสัตว์ที่ดีเกินคาดและแนวโน้มกำไรที่อยู่ในเกณฑ์ดีในงวดครึ่งปีแรก 68 (ซึ่งอาจต่อเนื่องไปในไตรมาส 3/68) โดยแนะนำ “ซื้อ” หุ้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยมี BTG เป็นหุ้นเด่นให้ราคาเป้าหมาย 27.00 บาท จากปัจจัยสนับสนุน 1.) การเติบโตของกำไรปี 68 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสูงที่สุด 2.) สถานะทางการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 1.25 เท่า และหนี้มีดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่ 0.75 เท่า ขณะที่ TFG แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 5.30 บาท, CPF ให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 30.00 บาท และ GFPT ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 12.50 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึงทิศทางอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ว่าปัจจุบันราคาจำหน่ายไก่ในประเทศไทยยังคงทรงตัวเมื่อเทียบรายสัปดาห์ อยู่ที่ระดับ 40.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 36–37 บาทต่อกิโลกรัม ด้านราคาสุกรไทยยังทรงตัวเช่นกันที่ระดับ 87.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ในช่วง 64–65 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนราคาสุกรในประเทศจีนปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.2% เมื่อเทียบรายสัปดาห์ มาอยู่ที่ 14.83 หยวนต่อกิโลกรัม หรือเทียบเท่าประมาณ 67.53 บาท โดยต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 14–15 หยวนต่อกิโลกรัม การปรับลดลงของราคาเกิดจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวหลังจากมีการเร่งสต็อกสินค้าในช่วงก่อนวันหยุดแรงงาน

อย่างไรก็ดี ราคาสุกรในเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายสัปดาห์มาอยู่ที่ 70,500 ดองต่อกิโลกรัม หรือราว 89.40 บาท โดยมีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 43,000 ดอง ทั้งนี้ราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานในประเทศ

จากปัจจัยดังกล่าวฝ่ายวิเคราะห์ยังคงให้น้ำหนัก “NEUTRAL” ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โดยยังคงเลือก CPF เป็นหุ้นเด่น (Top Pick) ของกลุ่มให้ราคาเป้าหมายปี 68 อยู่ที่ 27.40 บาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า CPF จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/68 ที่แข็งแกร่ง โดยกำไรสุทธิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะราคาสุกรในไทยและเวียดนามที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน ช่วยสนับสนุนอัตรากำไรให้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 27.40 บาท และ GFPT ให้ราคาเป้าหมาย 13.80 บาท

จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการทางการเงินสำหรับงวดไตรมาส 1/2568 อาทิ GFPT รายงานกำไรไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 638 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 465 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายรวมอยู่ที่ 4,649.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.71% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 165.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.87% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 โดยมาจากรายได้จากการขายลูกไก่ และรายได้จากการขายไก่เนื้อเพิ่มขึ้น

ส่วน TFG รายงานกำไรไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 2,036.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,072.44% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 173.71 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากราคาไก่ ราคาสุกรในประเทศไทย และราคาสุกรและปริมาณในประเทศเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายฟาร์มที่ผ่านมา อีกทั้ง รายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายสาขาของร้านค้าปลีก และบริหารจัดการช่องทางการจำหน่าย ประกอบกับการ บริหารจัดการด้านวัตถุดิบที่ดี

รวมไปถึง BTG ที่รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/68 สามารถพลิกกลับมามีกำไรไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 1,897.82 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 124.07 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ระดับ 30,499.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จาก 27,215.4 ล้านบาทในไตรมาส 1/2567 โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสาเหตุมาจาก 1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหมูและไก่ในประเทศ, 2) ความต้องการบริโภคหมูและไก่ที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก และ 3) การบริหารพอร์ตการขายสินค้าไปสู่ผลิตภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน, การจำหน่ายในช่องทาง Foodservice และส่งออก

Back to top button