ADVANC ย้ำเป้ารายได้ปี 68 โต 5% อัดเงิน 2.7 หมื่นลบ. ลุยลงทุน 5G-คลาวด์-แบงก์ดิจิทัล

ADVANC ตอกย้ำเป้ารายได้บริการปี 68 โต 3-5% วางงบลงทุน 26,000–27,000 ล้านบาท ลุยขยายโครงข่าย 5G–บรอดแบนด์–คลาวด์ พร้อมเสริมทัพธุรกิจใหม่ดาต้าเซ็นเตอร์ GSA และ Virtual Bank คาดเริ่มดำเนินการปีหน้า หนุนธุรกิจเติบโตยั่งยืน


นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ หัวหน้าแผนกงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยในงาน Opportunity Day ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 บริษัทมีกำไรสุทธิ 10,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง พร้อมค่าเสื่อมราคาที่ลดลงหลังจากตัดค่าเสื่อมสินทรัพย์โครงข่าย 3G ไปแล้ว รวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ

โดยไตรมาส 1/68 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 56,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเติบโตจากทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) รายได้ 31,600 ล้านบาท โต 4.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 75% ของรายได้จากบริการหลัก และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) รายได้ 7,828 ล้านบาท โต 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผู้ใช้งานรวม 2.57 ล้านราย ARPU อยู่ที่ 518 บาท เพิ่มขึ้น 4.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งบริการลูกค้าองค์กร (Enterprise) รายได้ 1,793 ล้านบาท โต 24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 4.3% ของรายได้จากบริการหลัก

ขณะที่ส่วนรายได้จากการขายอุปกรณ์และซิม เติบโตต่อเนื่องถึงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้รวม เป็นผลจากกลยุทธ์ด้านการค้าปลีก การจัดแคมเปญร่วมกับโทรศัพท์รุ่นใหม่ และการได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษี และรายได้อื่น ๆ อยู่ที่ 3,178 ล้านบาท โดยลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามปริมาณการเชื่อมต่อโครงข่ายกับ NT ที่ลดลงและการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

สำหรับแนวโน้มปี 2568 บริษัทยืนยันเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากบริการหลักที่ 3-5% แม้จะมีความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยยังตั้งเป้า EBITDA เติบโต 3-5% และมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

โดยเน้นกลยุทธ์ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) มุ่งเน้นการ รักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพของโครงข่าย ด้วยการยกระดับการใช้งาน 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอบริการและ Content ที่สร้างมูลค่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งมอบบริการ Digital Experience ที่เหนือระดับ

บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (High-Speed Internet) AIS มุ่งเน้นการ ขยายผู้ใช้บริการในพื้นที่ใหม่ ควบคู่กับการเพิ่ม ARPU (รายได้ต่อเลขหมายต่อเดือนเฉลี่ย) ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมและการเชื่อมต่อที่เหนือกว่าบริการทั่วไปโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อส่งมอบคุณภาพบริการที่เหนือกว่า

บริการลูกค้าองค์กร (Enterprise) มุ่งเน้นการให้บริการ เชื่อมต่อและ Cloudโดยใช้ความสัมพันธ์กับฐานลูกค้าที่มีอยู่เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เสริมที่แตกต่าง โดยเฉพาะ Solutions ที่ขับเคลื่อนด้วย 5G เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

โดย AIS ตั้งงบลงทุน (Capex) ปี 2568 อยู่ที่ 26,000–27,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงข่ายและการควบรวมกิจการ โดยส่วนใหญ่ยังเน้นที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตบ้าน และลูกค้าองค์กร รวมถึง การลงทุนพิเศษในโครงการ Virtual Bank และ Data Center/Cloud/AI รวม 3-5 พันล้านบาทภายใน 3 ปี

สำหรับ Virtual Bank ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงการคลัง คาดว่าจะประกาศผลภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง AIS, ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ PTTOR ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569 ตามกรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน AIS ยังงดให้ความเห็นในประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ตามระเบียบ Special Silent Period ซึ่งจะสิ้นสุดหลังวันที่ 29 มิถุนายน 2568

ทั้งนี้ ผู้บริหารระบุว่า แม้ไตรมาสแรกจะทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมาย แต่ยังคงดำเนินนโยบายเชิงรุกอย่างระมัดระวังในไตรมาส 2–4 โดยยังเดินหน้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคใกล้ชิด พร้อมปรับแผนตามสถานการณ์เพื่อรักษาเป้าหมายการเติบโตทั้งปีให้ได้ตามแผนเดิม

Company Snapshot 3M/68

Back to top button