
“จงรัก รัตนเพียร” ย้ำแบงก์ต้องสมดุล ปล่อยสินเชื่อ-ดูแลผู้ถือหุ้น แม้เศรษฐกิจโตต่ำ
“จงรัก รัตนเพียร” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เผย ธนาคารพาณิชย์ต้องเติบโตเคียงคู่เศรษฐกิจไทย เดินเกมปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ พร้อมสร้างความสมดุลระหว่างลูกค้า ผู้ถือหุ้น และเสถียรภาพของระบบการเงิน
นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงาน บนเวทีเสวนาในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ “โอกาสและความท้าทายลงทุนไทย” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ในวันนี้ (17 พ.ค.68) ว่า บทบาทของธนาคารพาณิชย์ เราอยากจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจอยู่แล้ว ขณะที่มุมตลาดทุน ธนาคารต้องบริหารความเสี่ยง “หุ้นแบงก์” อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วยเช่นกัน
ธนาคารมีการระดมทุนและนำเงินไปปล่อยสินเชื่อภายในประเทศ จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างสองบทบาทสำคัญ เนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้เคยผ่านวิกฤตหลายครั้ง เช่น วิกฤตปี 2540 ที่เกือบไม่รอด แต่หลังจากนั้นก็สามารถบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี แม้ภาวะเศรษฐกิจจะมีความท้าทาย แต่ธนาคารก็ยังเดินหน้าจ่ายปันผล และมีบทบาทในการประคองดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นกลุ่มอื่นอ่อนแรง
นายจงรัก ยังกล่าวถึงการให้สินเชื่อกับภาคส่งออก โดยกล่าวว่า ธนาคารคุยกับลูกค้าตลอด มีโปรแกรมสนับสนุนในเชิงสินเชื่อตลอด ก็จะมีลูกค้าที่ “ไปต่อได้” กับ “ไปต่อไม่ได้” ในพอร์ตของหลาย ๆ แบงก์มีหนี้เสีย และหนี้กำลังจะเสียมากมาย
สำหรับกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ “ลดกำไร” นายจงรัก กล่าวตอบว่า สิ่งที่ธนาคารทำไม่ใช่ปล่อยสินเชื่อ โดยไม่กลั่นกรอง แต่เป็นการวางแผนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจ ลูกค้า และผู้ถือหุ้น เดินหน้าไปพร้อมกัน
“จะบอกว่าเราก้มหน้าก้มตาแล้วปล่อยไปเลยสินเชื่อ แล้วเกิดอะไร นี่แล้วแบงก์อยู่ไม่ได้ ก็ค่อนข้างลำบาก จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราทำคือพยายามดูยังไงว่าความเหมาะสมคืออะไร เราสนับสนุนเศรษฐกิจได้ด้วย ลูกค้าเราก็ไปได้ด้วย ประเทศเราก็เจริญเติบโต ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นเรา… จริง ๆ เราก็ต้องดูแลด้วย ไม่ใช่บอกว่า เออทำไปแล้วเกิดปัญหา เกิดหนี้เสียแบงก์ก็จะอยู่ไม่ได้ วันหลังเราไปเพิ่มทุน ไปต่างประเทศไม่มีใครซื้อ เราก็เอาเงินนั้นมาปล่อยสินเชื่อ ขยายกิจการให้กับลูกค้าเรา มันก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วต้องมองยาวกว่านั้น” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย พร้อมย้ำว่า แบงก์ไม่ได้อยากเก็บเงินไว้ เพราะมีต้นทุนทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร แต่ต้องรู้ว่าจะปล่อยสินเชื่ออย่างไรให้ “ไปด้วยกันได้” ทั้งลูกค้าและผู้ถือหุ้น
นายจงรัก เปรียบเทียบการปล่อยสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ว่าเหมือนการรักษาผู้ป่วย
“ผู้ป่วยหรือลูกค้าเรา เราไม่เคยให้เฉียบพลัน ในแบงก์เราเรียกว่าให้ยา… เวลาป่วยเราจัดชุดยาหลายขนาน ติดเตียงบ้าง อะไรบ้าง แต่จะเฉียบพลันแทบไม่มี เพราะถ้าเฉียบพลันแบงก์เสียหายด้วย จนกระทั่งหมอวินิจฉัยว่าไม่ไหวแล้ว ก็ดึงปลั๊ก เปลืองไฟด้วยโน่นนี่ … ช่วยตลอด… ถ้าถึงขั้นดึงปลั๊กต้องหลายปี เรื้องรังมาก วินิจฉัยแล้วไม่ไหว… ต้องสร้างยาขึ้นใหม่ทุกปี เริ่มดื้อยา การแก้ไขปัญหาไม่ใช่ให้ยาอย่างเดียว ทำอย่างไรผู้ป่วยถึงจะลดลงด้วยตั้งแต่ต้นทาง” นายจงรัก กล่าว
ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ยังยอมรับว่า ขณะนี้การเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำ และบางแบงก์เริ่มเห็นตัวเลขติดลบ ขณะที่หนี้เสีย (NPL) เป็นระยะสุดท้ายของความเสี่ยงที่ธนาคารต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SMEs ขนาดเล็กและกลาง
เมื่อถูกถามว่าทำไมธนาคารถึงยังทำกำไรได้ดี แม้เศรษฐกิจโตต่ำ นายจงรัก ระบุว่า เป็นเพราะธนาคารประเมินความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า และเตรียมรับมือไว้ โดยไม่พึ่งพาแค่ตัวเลขรายปี
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการ GDP ลงจาก 2% เหลือ 1% กว่า สะท้อนแรงกดดันจากภายนอกและการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแรง
นอกจากนี้ นายจงรัก ยังสะท้อนมุมมองสอดคล้องกับผู้ร่วมเสวนาหลายราย โดยเฉพาะประเด็นด้านความปลอดภัยในประเทศไทย ซึ่งชาวต่างชาติจับตามองมากกว่าที่คนไทยคาดคิด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ