
กสิกรไทยเตือน! ภาษีรถยนต์สหรัฐฯ ฉุดส่งออกไทยสะเทือน 1.2% ของ GDP
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ นโยบายภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ กระทบส่งออกไทยโดยตรง โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง คิดเป็นสัดส่วน 26% ของการส่งออกในกลุ่มนี้ และ 1.2% ของ GDP ไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนการนำเข้ารวมกว่า 20% ของมูลค่าการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนทั่วโลก แม้สหรัฐฯ จะมียอดขายรถยนต์ภายในประเทศสูงกว่า 16 ล้านคันต่อปี (เป็นอันดับ 2 ของโลก) แต่สามารถผลิตรถยนต์ได้เฉลี่ยเพียงปีละ 10 ล้านคันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าความต้องการภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตภายในประเทศ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนในอัตรา 25% ภายใต้มาตรา 232 ของพระราชบัญญัติการขยายการค้าสหรัฐฯ พ.ศ. 2505 รวมถึงการเรียกเก็บภาษีในรูปแบบ Reciprocal Tariff สำหรับสินค้าที่อยู่นอกรายการที่ถูกจัดเก็บภาษีตามมาตรา 232 ไปแล้ว แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนออกมาบางส่วนในระยะหลัง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบต่อผู้ส่งออกได้อย่างทั่วถึง
สำหรับประเทศไทย การขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังสหรัฐฯ รวม 6,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 14% ของมูลค่าการส่งออกหมวดนี้ทั้งหมดของไทย และประมาณ 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
โดยเมื่อแยกพิจารณารายหมวด พบว่ารถยนต์ที่ส่งออกจากไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรงน้อยกว่าชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ใช่ตลาดหลักของรถยนต์ไทย โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ไทยเคยส่งออกประมาณ 36,000 คันในปี 2567 ก็มีแผนยุติการจำหน่ายในสหรัฐฯ อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ ในอนาคตอาจเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นจากต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น
ในทางกลับกัน ชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของการส่งออกชิ้นส่วนทั้งหมด โดยมาตรการขึ้นภาษี 25% ภายใต้มาตรา 232 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ครอบคลุมชิ้นส่วนกว่า 130 รายการตาม HS Code
เมื่อจำแนกกลุ่มชิ้นส่วนตามระดับผลกระทบ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง (เช่น กระปุกเกียร์ เพลาขับ), ระบบกันสะเทือน (ล้อ พวงมาลัย), และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (หัวเทียน อุปกรณ์ส่องสว่าง) ซึ่งล้วนมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ ชิ้นส่วนตัวถังและอุปกรณ์ภายในรถ เช่น ถุงลมนิรภัย และอุปกรณ์ตกแต่ง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่มาก
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ ยางรถยนต์ (โดยเฉพาะยางรถยนต์นั่งและปิกอัพ) และเครื่องยนต์ ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนค่อนข้างน้อย และยังมีตลาดทดแทนอื่น เช่น อาเซียน แอฟริกาใต้ และไต้หวัน
แม้ว่าสหรัฐฯ จะออกมาตรการคืนเงินภาษีนำเข้าสำหรับชิ้นส่วน OEM บางรายการที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2568 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้า 25% แต่การคืนเงินดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะ
- ขอบเขตการคืนเงินจำกัดเฉพาะบางชิ้นส่วนที่ค่ายรถยนต์เลือก ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่มาก เนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในสหรัฐฯ ยังใช้ชิ้นส่วนนำเข้าในสัดส่วนที่สูง
- ชิ้นส่วนจากไทยกว่า 50% เป็นชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) ซึ่งกระจายอยู่ในผลิตภัณฑ์หลากหลายและไม่ได้อยู่ในขอบเขตการคืนภาษี ส่งผลให้ชิ้นส่วนเหล่านี้ต้องเผชิญกับต้นทุนภาษีเต็มจำนวน
จากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี มาตรการจูงใจการลงทุนในประเทศของสหรัฐฯ จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นไป