
SCB EIC มองลดหย่อนภาษี “โซลาร์รูฟท็อป” หนุนติดตั้งเพิ่ม วอนรัฐออกมาตรการกระตุ้น
SCB EIC เผยผู้บริโภคสนใจติดโซลาร์รูฟท็อป มาตรการลดหย่อนภาษีช่วยกระตุ้นได้จริง แต่ยังต้องมีมาตรการเสริมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มแรงจูงใจ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center – EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในที่อยู่อาศัย โดยกำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้มีสิทธิขอใช้มาตรการนี้ ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) และต้องเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1)–(8) ของประมวลรัษฎากร โดยระบบที่ติดตั้งต้องเป็นแบบ On-grid ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงข่ายของการไฟฟ้า กำหนดขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และต้องมีเอกสารประกอบการติดตั้งครบถ้วน
มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือน ท่ามกลางแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และการตื่นตัวของประชาชนต่อพลังงานสะอาด ทั้งนี้ มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการประกาศใช้
มาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าวถือเป็นแรงจูงใจที่จะช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน โดยกระทรวงพลังงานระบุว่า ในปี 2023 ประเทศไทยมีศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022 อยู่ที่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตอีกมากในอนาคต
ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC ในช่วงต้นปี 2025 พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,257 ราย แสดงความสนใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการติดตั้งที่ยังอยู่ในระดับสูง มาตรการลดหย่อนภาษี 200,000 บาท จึงคาดว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถลดภาระภาษีได้ประมาณ 6,100 – 50,000 บาท ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญในการลงทุน
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังสะท้อนถึง “สัญญาณเชิงนโยบาย” จากภาครัฐ ที่แสดงถึงความจริงจังในการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน
แม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษีจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภค แต่จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐคือ “การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง” (26%) รองลงมาคือ “การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง” (20%) ขณะที่ความต้องการอื่น ๆ ที่ประชาชนอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ การปลดล็อกการขายไฟฟ้าอย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ต่ำกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%)
ข้อค้นพบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคคาดหวัง “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในระดับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน